TFEX
Futures VS DW

           เครื่องมือทางการเงินในปัจจุบันมีให้เลือกเพิ่มมากขึ้นทำให้การวางกลยุทธ์ในการลงทุนทำได้ง่ายขึ้น แต่ก็ตามมาด้วยความซับซ้อนที่ผู้ลงทุนจำเป็นต้องศึกษาทำความเข้าใจก่อนการตัดสินใจลงทุน เครื่องมือทางการเงินที่เป็นที่รู้จักและมักถูกพูดถึงคือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures Contract) และใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ หรือ DW แต่ทราบหรือไม่ครับว่าทั้ง 2 เครื่องมือนี้มีความเหมือนและมีความต่างที่สำคัญ ซึ่งผมจะขอสรุปให้เข้าใจกันแบบสั้นๆ ดังนี้


 “สามารถลงทุนได้ทั้งตลาดขาขึ้นและขาลง เหมือนกัน”

Futures และ DW สามารถลงทุนได้ทั้งตลาดขาขึ้นและขาลงได้เหมือนกัน

           - ตลาดขาขึ้น

Futures เปิด สถานะ “Long Position” เพื่อทำกำไรขาขึ้น

DW ซื้อ Call DW เพื่อถือสิทธิในการซื้อหุ้น ซึ่งจะทำให้สร้างกำไรได้ในตลาดขาขึ้น

           - ตลาดขาลง

Futures เปิด สถานะ “Short Position” เพื่อทำกำไรขาลง

DW ซื้อ Put DW เพื่อถือสิทธิในการขายหุ้น ซึ่งจะทำให้สร้างกำไรได้ในตลาดขาลง


 “สามารถลงทุนตาม Index และหุ้นรายตัวได้เหมือนกัน”

           Futures มีสินทรัพย์อ้างอิงทั้งรูปแบบ Index คือ ดัชนี SET50 และหุ้นรายตัวถึงกว่า 128 บริษัท นอกจากนี้ยังมีสินทรัพย์ทางเลือกอื่น เช่น ทองคำ โลหะเงิน ค่าเงินดอลลาร์ ยาง ให้เลือกลงทุน สามารถดู 128 หุ้นอ้างอิงได้จาก link: https://media.tfex.co.th/tfex/Documents/2023/Jan/Underlying_TH_17082021.pdf 

           DW มีสินทรัพย์อ้างอิง ทั้ง Index เช่น SET50, SET100 และมีหุ้นรายตัวเช่นกัน

 

“ราคาเคลื่อนไหวตามสินทรัพย์อ้างอิง เหมือนกัน”

           ราคาของ Futures และ DW อ้างอิงตามสินทรัพย์ที่อ้างอิงเหมือนกัน โดยจะเคลื่อนไหวขึ้นลงตามสินทรัพย์อ้างอิง ดังนั้นในการลงทุน นักลงทุนมักจะพิจารณาจากทิศทางของสินทรัพย์อ้างอิงก่อนตัดสินใจลงทุน

 

“สัญญามีวันหมดอายุ เหมือนกัน”

           ทั้ง Futures และ DW ถือเป็นสัญญาที่มีวันหมดอายุเช่นกัน โดย Futures จะมีลักษณะ Contract ที่กำหนดโดย TFEX ส่วน DW จะถูกกำหนดโดยบริษัทหลักทรัพย์ที่ออก DW

 

“บัญชีการซื้อขาย ต่างกัน”

           สำหรับประเภทบัญชีที่ผู้ลงทุนต้องเปิดกับทางโบรกเกอร์เพื่อทำการซื้อขายจะแตกต่างกัน

Futures ใช้บัญชีอนุพันธ์ ซึ่งซื้อขายในตลาด TFEX

DW ใช้บัญชีเดียวกับการลงทุนในหุ้น

 

“รูปแบบการลงทุน ต่างกัน”

           Futures ในการเริ่มลงทุนผู้ลงทุนจะวางเพียงแค่หลักประกัน (Margin) ประมาณ 5-8% ของมูลค่าของสัญญาที่ลงทุน ดังนั้นจะมี Leverage จากการลงทุนสูง หรือมีผลกำไรและขาดทุนสูงเมื่อราคามีการเปลี่ยนแปลง โดยตัวหลักประกันจะมีการ Mark to Market ทุกสิ้นวันทำการ

           DW ในการเริ่มลงทุนผู้ลงทุนจะเหมือนทำการซื้อสิทธิในการซื้อ หรือสิทธิในการขาย ซึ่งจะซื้อขาดครั้งเดียว

 

           โดยทั้ง Futures และ DW ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางเลือกในการลงทุนที่สามารถสร้าง leverage ในการลงทุนและสร้างกลยุทธ์ทั้งตลาดขาขึ้นและขาลงได้เหมือนกัน แต่ก็อาจจะมีความต่างที่สำคัญที่นักลงทุนจะสามารถพิจารณาเป็นทางเลือก เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้าง port การลงทุนที่มีประสิทธิภาพ ยืดหยุ่นในทุกสภาพตลาด เพื่อนๆ ชอบแบบไหนลองตัดสินใจเลือกเรียนรู้ หรือเลือกลงทุนกันดูนะครับ

ดูรายละเอียดสินค้าใน TFEX เพิ่มเติมได้ที่นี่ linkout


แท็กที่เกี่ยวข้อง: แนวคิดเทรด TFEX
บทความที่เกี่ยวข้อง