ข้อผิดพลาดอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ลงทุนมือใหม่ไม่ประสบความสำเร็จในการซื้อขายใน TFEX คือ ยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการซื้อขายฟิวเจอร์สและออปชั่นใน TFEX ซึ่งกลไกการซื้อขายใน TFEX จะมีความแตกต่างจากกลไกการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยสิ่งที่ผู้ลงทุนควรรู้เกี่ยวกับกลไกการซื้อขายใน TFEX ได้แก่
ซื้อขายใน TFEX ต้องเปิดบัญชีเพิ่มอีก 1 บัญชี
ผู้ที่สนใจเข้ามาซื้อขายฟิวเจอร์สและออปชั่นใน TFEX ต้องเปิดบัญชีสำหรับซื้อขาย TFEX เท่านั้น โดยเป็นบัญชีที่แยกออกมาต่างหากจากบัญชีซื้อขายหุ้น เนื่องจากไม่สามารถนำบัญชีที่ใช้ซื้อขายหุ้นมาซื้อขาย TFEX ได้ แต่เมื่อเปิดบัญชี TFEX เรียบร้อยแล้ว จะสามารถใช้บัญชีดังกล่าวซื้อขายสินค้าใน TFEX ได้ทุกประเภท ดังนั้น ขั้นตอนแรกที่ผู้ลงทุนจะต้องทำ ก็คือ เปิดบัญชี TFEX กับโบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกของตลาด TFEX เสียก่อน โดยดูรายชื่อได้ที่นี่
เป็นการทำสัญญาว่าจะเป็นผู้ซื้อสินค้าหรือจะเป็นผู้ขายสินค้า
การที่ผู้ลงทุนเข้ามาซื้อขายใน TFEX นั้น ยังไม่ใช่การซื้อขายสินค้าจริง ดังนั้น ผู้ขายจึงยังไม่ต้องนำสินค้ามาส่งมอบ ส่วนผู้ซื้อก็ยังไม่ต้องรับมอบสินค้าหรือชำระเงินค่าสินค้าทันที แต่การซื้อขายฟิวเจอร์สและออปชั่นใน TFEX จะเป็นการเข้ามาทำสัญญาว่าต้องการจะซื้อหรือต้องการจะขายสินค้าอ้างอิงกันในอนาคต ตามราคาและเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ซึ่งผู้ที่ทำสัญญาจะได้รับสิทธิ หรือมีภาระผูกพันที่จะต้องซื้อหรือขายสินค้าตามข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าว
แต่การเข้ามาซื้อขายใน TFEX ผู้ลงทุนไม่ต้องกังวลว่า เมื่อเข้ามาทำสัญญาจะซื้อหรือจะขายสินค้าแล้วต้องมีภาระในการรับมอบส่งมอบสินค้าหรือเตรียมเงินมาชำระค่าสินค้าในอนาคต หากผู้ลงทุนต้องการยกเลิก หรือล้างสถานะสัญญาที่ถืออยู่ ก็สามารถทำได้ด้วยการเข้าไปทำสัญญาในฝั่งตรงข้ามกับฝั่งที่เราทำสัญญาไว้ตอนแรก ไม่จำเป็นต้องถือจนสัญญาหมดอายุ แต่การล้างสถานะสัญญาด้วยวิธีนี้สามารถทำได้ก่อนวันที่สัญญาจะครบกำหนดอายุเท่านั้น
ในกรณีที่ผู้ลงทุนถือสัญญาจนถึงวันซื้อขายวันสุดท้าย ผู้ทำสัญญาอาจมีการรับมอบส่งมอบสินค้าและชำระเงินค่าสินค้า อย่างไรก็ดี ฟิวเจอร์สและออปชั่นส่วนใหญ่ใน TFEX ไม่ได้กำหนดให้รับมอบส่งมอบสินค้ากันจริง ๆ แต่จะใช้วิธีจ่ายเงินจากส่วนต่างของราคาซื้อขาย (Cash Settlement) แต่ถ้าสัญญาตัวใดที่กำหนดให้มีการรับมอบส่งมอบสินค้าจริง (Physical Delivery) ผู้ลงทุนจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการถือสัญญาจนถึงวันซื้อขายวันสุดท้าย
ใช้วิธีวางหลักประกันไม่ต้องจ่ายเงินเต็มมูลค่าสินค้า
เนื่องจากการซื้อขายใน TFEX เป็นเพียงการทำสัญญาว่าจะซื้อหรือจะขาย ยังไม่มีการส่งมอบสินค้าและชำระเงินค่าสินค้าทันที ดังนั้น การซื้อขายใน TFEX จึงไม่ต้องจ่ายเงินเต็มมูลค่าสัญญา แต่ใช้วิธีวางเงินหลักประกันประมาณ 10-15% ของมูลค่าสัญญา เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้ที่ทำสัญญากันทั้งสองฝั่งจะไม่บิดพลิ้วสัญญา โดยเริ่มแรกผู้ลงทุนจะต้องวางเงินหลักประกัน (Initial Margin) ไว้กับโบรกเกอร์ที่เปิดบัญชีก่อนจึงจะสามารถส่งคำสั่งซื้อขายได้ ซึ่งหลักประกันที่ต้องวางก่อนการส่งคำสั่งซื้อขาย สำหรับการทำสัญญาซื้อขายใน TFEX นั้นถือเป็นเงินจำนวนที่น้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าสินค้าตามสัญญา
หลักประกันสองประเภทหลักๆ ที่ผู้ลงทุนควรให้ความสนใจก่อนซื้อขาย ได้แก่ หลักประกันขั้นต้น (Initial Margin) และหลักประกันรักษาสภาพ (Maintenance Margin) เนื่องจากในการซื้อขายอนุพันธ์ ผู้ลงทุนต้องวางเงินประกันขั้นต้นตามระดับที่โบรกเกอร์อนุพันธ์กำหนดไว้ก่อนการซื้อขาย และหลังจากซื้อขายแล้ว โบรกเกอร์จะคำนวณกำไรขาดทุนให้ผู้ลงทุนทุกวันทำการ ทำให้เงินในบัญชีของผู้ลงทุนอาจเคลื่อนไหว เพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามราคาฟิวเจอร์สที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน
กรณีซื้อขายฟิวเจอร์ส
ในการซื้อขายฟิวเจอร์ ผู้ลงทุนไม่ต้องจ่ายเงินเต็มจำนวนตั้งแต่ซื้อขายครั้งแรก แต่จะต้องวาง "เงินหลักประกันขั้นต้น" ตามระดับที่โบรกเกอร์กำหนด ซึ่งโดยทั่วไปจะมีมูลค่าไม่เกิน 10-15% ของมูลค่าสัญญา
กรณีซื้อออปชัน
ผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องวางหลักประกันขั้นต้นก่อน แต่จะต้องชำระค่าซื้อออปชันที่เรียกว่า "ค่าพรีเมี่ยม" (Premium) ให้กับผู้ขาย จึงไม่มีความเสี่ยงว่าจะบิดพลิ้วสัญญา
กรณีขายออปชัน
ผู้ขายจะต้องวาง "หลักประกันขั้นต้น" ก่อนหากผู้ซื้อออปชันมีกำไรก็จะขอใช้สิทธิ ผู้ขายจะขาดทุนและต้องปฏิบัติตามสัญญา ผู้ขายจึงมีแนวโน้มที่จะบิดพลิ้วสัญญามากกว่าผู้ซื้อ
หลังจากที่ผู้ลงทุนส่งคำสั่งซื้อขายแล้วเกิดการจับคู่ ตลอดการถือครองสัญญา ผู้ลงทุนมีหน้าที่ในการรักษาหลักประกันให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหน เพราะหากราคาของฟิวเจอร์สและออปชั่นมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลง จะส่งผลให้เกิดส่วนต่างระหว่างราคาที่ทำสัญญาไว้กับราคาตลาด และจะทำให้ผู้ถือฟิวเจอร์สและออปชั่นมีผลกำไรหรือขาดทุน ซึ่งกำไรหรือขาดทุนตัวนี้จะถูกนำไปคำนวณรวมกับหลักประกันที่วางไว้ในครั้งแรก โดยหากหลักประกันที่ถูกปรับปรุงตัวเลขกำไรขาดทุนแล้วเกิดต่ำกว่าระดับหลักประกันรักษาสภาพ (Maintenance Margin) ผู้ลงทุนจะต้องเข้าสู่ กระบวนการเรียกหลักประกันเพิ่ม (Margin Call) โดยต้องนำหลักประกันมาวางเพิ่ม หรือจะเลือกวิธีการล้างสถานะที่มีอยู่ออกไปก็ได้
อัตราหลักประกันที่โบรกเกอร์เรียกเก็บจากผู้ลงทุน จะใช้แนวทางที่ชมรมผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (FI Club) กำหนดใน มาตรฐานการประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ในส่วนที่เ กี่ยวกับหลักประกันซึ่งปัจจุบันสำหรับผู้ลงทุนทั่วไปกำหนด 1.9 เท่า และ ผู้ลงทุนสถาบันกำหนด 1.35 เท่า ของอัตราที่บริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Thailand Clearing House (TCH) กำหนด ( ตรวจสอบหลักประกันที่ TCH กำหนด ได้ที่นี่ https://www.set.or.th/tch/th/derivatives/news.html )
หมายเหตุ:
อัตราหลักประกันอาจเปลี่ยนแปลงตามความผันผวนของสินทรัพย์อ้างอิง
สูตรการคำนวณ ( หลักประกันที่ TCH กำหนด x ตัวคูณที่ FI Club
กำหนด )
ตัวอย่างการคำนวณกำไรขาดทุนและการวางหลักประกันเพิ่มของ SET50 Futures
หมายเหตุ: SET50 Futures 1 จุด = 200 บาท
ในทางปฏิบัติโบรกเกอร์อนุพันธ์จะแนะนำให้ผู้ลงทุนเติมเงินก่อนที่เงินหลัก ประกันจะลดลงไปจนถึงระดับ "หลักประกันรักษาสภาพ (MM)" เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนจะถูกบังคับปิดสถานะ (Force Close) หากไม่สามารถวางเงินหลักประกันได้ทันตามกำหนดเวลา
ผู้ลงทุนควรให้ความสำคัญและทำความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการวางหลักประกันเป็นพิเศษ เนื่องจากประเด็นความผิดพลาดส่วนหนึ่งของผู้ลงทุนที่เข้ามาซื้อขายใน TFEX มักเกิดจากการที่ผู้ลงทุนไม่สามารถรักษาระดับหลักประกันได้ตามที่กำหนดกรณีที่มีผลขาดทุนเกิดขึ้น จนต้องถูกเข้าสู่กระบวนการบังคับล้างสถานะ (Force Close)
คลิกเพื่อดู 5 ขั้นตอนง่ายๆ ในการซื้อขาย TFEX