TFEX
5 Min Read

ทำความรู้จักกับ Japanese Rubber Futures (JRF)

by TFEX
ทำความรู้จักกับ Japanese Rubber Futures (JRF)

จุดเด่น ขนาดเล็ก เทรดง่าย ซื้อขายเป็นบาท ไม่ต้องส่งมอบ และไม่มี FX

          ยางแผ่นรมควันเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสำคัญๆ มากมาย เช่น ยางรถยนต์ ถุงมือยางทางการแพทย์ สายพานลำเลียง ผลิตภัณฑ์ในงานก่อสร้างและวิศวกรรม เป็นต้น

          เนื่องจากราคายางแผ่นรมควันนั้นค่อนข้างมีความผันผวน จึงทำให้มีทั้งผู้ประกอบการที่ต้องการใช้ยางเป็นวัตถุดิบนิยมซื้อขายยางล่วงหน้าเพื่อประกันความเสี่ยง และผู้ลงทุนที่นิยมซื้อขายยางล่วงหน้าเพื่อทำกำไรจากการเปลี่ยนแปลงของราคายาง

          สินค้าอ้างอิง + ราคาที่ซื้อขาย

          สินค้าอ้างอิงของ JRF เป็นยางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS3) ตามมาตรฐาน Green Book ที่ซื้อขายในประเทศญี่ปุ่น และให้ซื้อขายด้วยตัวเลขราคาเดียวกันกับตลาด JPX (เยน/กิโลกรัม) ดังนั้นเวลาที่ผู้ลงทุนจะซื้อขาย JRF ใน TFEX กันที่ราคาเท่าไรก็สามารถอ้างอิงตัวเลขที่จะซื้อขายกันจากตลาด JPX ได้เลย เช่นถ้าราคายางล่วงหน้าในตลาด JPX ซื้อขายกันที่ 200 เยน/กิโลกรัม ราคาซื้อขาย JRF ใน TFEX ก็ควรจะเท่ากับหรือใกล้เคียงกับ 200 เยน/กิโลกรัม เช่นเดียวกัน

          ผู้ที่สนใจข้อมูลราคายางล่วงหน้าใน JPX สามารถดูข้อมูลได้จาก https://www.jpx.co.jp/  (ข้อมูล Delayed 5 นาที)

          ขนาดของสัญญา

          JRF ใน TFEX กำหนดขนาดสัญญาไว้ที่ 300 เท่า แบบไม่นำอัตราแลกเปลี่ยนมาคำนวณ หมายความว่า ถ้าผู้ลงทุนซื้อขาย JRF ใน TFEX สามารถนำราคาที่ซื้อขายมาคูณกับ 300 คิดเป็นมูลค่าของสัญญาได้เลย เช่น ถ้าผู้ลงทุนทำสัญญาซื้อ JRF ที่ราคา 200 เยน/กิโลกรัม มูลค่าของสัญญาหนึ่งสัญญาก็จะเท่ากับ 200*300 = 60,000 บาท (ไม่นำอัตราแลกเปลี่ยนมาคำนวณ แต่ให้คิดมูลค่าเป็นเงินบาทได้ทันที)

          วิธีคิดกำไรขาดทุน

          ผู้ลงทุนคำนวณผลกำไร/ขาดทุนได้จากการนำราคาขายลบด้วยราคาซื้อ แล้วคูณด้วยขนาดสัญญา ซึ่งตัวเลขที่คำนวณออกมาได้เป็นกำไรขาดทุนในสกุลเงินบาท เช่น สมมติว่าผู้ลงทุนซื้อยางล่วงหน้าในตลาด TFEX ที่ราคา 200 เยน/กิโลกรัม และสามารถขายทำกำไรได้ที่ราคา 210 เยน/กิโลกรัม ผู้ลงทุนจะได้รับกำไร (210-200)*300 = 3,000 บาทต่อหนึ่งสัญญา

          จะเห็นได้ว่า TFEX ออกแบบลักษณะของสินค้าอ้างอิง ให้เสมือนกับว่าผู้ลงทุนไปซื้อขาย JRF ในตลาดญี่ปุ่น JPX โดยที่คิดกำไรขาดทุนกลับมาเป็นสกุลเงินบาททันที โดยไม่มีปัจจัยของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินเยนและสกุลเงินบาท

          ช่วงเวลาซื้อขาย

          JRF มีช่วงเวลาซื้อขายที่ไม่เหมือนกับสินค้าตัวอื่นๆ คือมีการซื้อขายเพียงช่วงเวลาเดียว แบบไม่หยุดพักกลางวัน โดยมีช่วง Pre-Open เวลา 09:15 - 09:45 น. และช่วงที่ซื้อขายได้ตั้งแต่ 09:45 - 16:55 น. (ไม่หยุดพักกลางวัน)

          เดือนที่ส่งมอบหรือชำระราคา และวันซื้อขายวันสุดท้าย

          ทาง TFEX ได้ออกแบบเดือนส่งมอบและวันซื้อขายวันสุดท้ายของ JRF ให้สอดคล้องกับยางล่วงหน้าที่มีการซื้อขายในตลาดญี่ปุ่น โดยจะมีทั้งหมด 6 เดือนต่อเนื่องกัน โดยสัญญาที่มีสภาพคล่องและปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด มักจะเป็นสัญญาซื้อขายยางล่วงหน้าในเดือนที่ไกลที่สุด (ซึ่งแตกต่างจากสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของสินค้าประเภทอื่นๆ ที่มักมีสภาพคล่องในเดือนใกล้ๆ)

          วันสุดท้ายของการซื้อขาย

          เนื่องจากสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทุกชนิดมีวันหมดอายุ ผู้ลงทุนจึงควรรู้ว่าวันซื้อขายวันสุดท้ายของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ซื้อขายอยู่หมดอายุในวันใด เนื่องจากหากผู้ลงทุนถือสัญญาจนถึงวันสุดท้ายและยังไม่ได้ล้างสัญญา จะต้องถูกเข้าสู่กระบวนการรับมอบส่งมอบหรือชำระราคา โดย JRF ได้กำหนดวันสุดท้ายของการซื้อขายไว้ คือ วันทำการที่สี่ (4) ก่อนวันทำการสุดท้ายของเดือนที่สัญญาครบอายุ โดยในวันสุดท้ายของการซื้อขายจะซื้อขายได้ ถึง 13:15 น.

          วิธีการส่งมอบหรือชำระราคา + ราคาที่ใช้ชำระหนี้ในวันซื้อขายวันสุดท้าย

          JRF กำหนดให้ไม่มีการส่งมอบสินค้าจริง แต่ใช้วิธีการชำระราคาเป็นเงินสด ผู้ลงทุนจึงไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการรับมอบส่งมอบสินค้าจริง โดยในวันสุดท้ายที่สัญญาหมดอายุ จะใช้ราคายางที่ตลาด JPX เป็นตัวอ้างอิงในการคำนวณกำไรขาดทุน ในจุดนี้ทำให้ราคาซื้อขาย JRF จะอ้างอิงกับราคาซื้อขายยางล่วงหน้าในตลาด JPX อย่างต่อเนื่องตลอดอายุสัญญาของ JRF

ดูรายละเอียดสินค้าใน Japanese Rubber Futures เพิ่มเติมได้ที่ linkout


แท็กที่เกี่ยวข้อง: แนวคิดเทรด Japanese Rubber Futures
บทความที่เกี่ยวข้อง