ตอนนี้ JRF (Japanese Rubber Futures) สินค้าใหม่ใน TFEX ที่อ้างอิงกับราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ก็ได้ใกล้เปิดตัวให้ผู้ลงทุนเข้ามาซื้อขายแล้ว ต้องบอกว่าสินค้าตัวนี้มีความน่าสนใจมากเลยทีเดียว
เนื่องจากตัวสินค้าอ้างอิง (ยางแผ่นรมควันชั้น 3) เป็นสินค้าที่มีความผันผวนจึงเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการสร้างผลตอบแทนจากการเปลี่ยนแปลงของราคา และสินค้ายางก็ยังเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าชนิดนี้ ก็สามารถใช้ JRF ในการประกันความเสี่ยงด้านราคาได้อีกด้วย
สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการเข้ามาซื้อขาย JRF เพื่อทำกำไรจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหรือผู้ประกอบการที่ต้องการเข้ามาซื้อขาย JRF เพื่อประกันความเสี่ยงด้านราคาสินค้า จะมีข้อสังเกตที่เป็นลักษณะเฉพาะของ JRF ที่เราคิดว่าสำคัญและเป็นประโยชน์ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1️. สินค้ายางนิยมซื้อขายเดือนไกล
Futures อ้างอิงสินค้ายางจะนิยมซื้อขายกันในเดือนไกล (เดือนที่มีอายุคงเหลือมาก) ส่วน Futures อ้างอิงสินค้าส่วนใหญ่จะนิยมซื้อขายกันเดือนใกล้ ซึ่งข้อมูลตรงนี้ทำให้ผู้ลงทุนที่ต้องการทำกำไรจากการเปลี่ยนแปลงของราคาต้องให้ความระมัดระวังอยู่
หากผู้ลงทุนเข้ามาซื้อขายในเดือนใกล้ที่สภาพคล่องน้อย อาจจะพบกับเหตุการณ์ที่ราคาเสนอซื้อเสนอขาย (Bid-Offer Price) อยู่ห่างกันมาก และมีปริมาณเสนอซื้อเสนอขาย (Bid-Offer Volume) น้อย ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ลงทุนอาจไม่สามารถซื้อขายได้ตามราคาและปริมาณที่ต้องการ
นอกจากเรื่องของสภาพคล่องแล้วในเดือนใกล้แล้ว ผู้ลงทุนที่ดูข้อมูลราคา Futures อ้างอิงกับราคายางในต่างประเทศประกอบการตัดสินใจซื้อขาย JRF ควรตรวจสอบให้มั่นใจก่อนว่าราคาที่เรากำลังติดตามเป็นราคาของเดือนที่มีสภาพคล่องสูง เนื่องจากพบว่ามีแหล่งข้อมูลหลายที่ที่นำข้อมูลราคาของเดือนใกล้มานำเสนอ ยกตัวอย่างเช่น ใน เว็บไซต์ investing.com จะแสดงข้อมูลราคาของเดือนใกล้ที่สุดด้วยสัญลักษณ์ “JRUc1” แต่สำหรับเว็บไซต์ tradingview.com จะแสดงข้อมูลราคาของเดือนไกลที่สุดด้วยสัญลักษณ์ “TRB1!” เป็นต้น
2️. JRF ใน TFEX 1 สัญญา ประมาณ 1 ตัน
การที่ JRF มีการซื้อขายกันในหน่วยสกุลเงินเยนต่อกิโลกรัม (JPY/Kg.) อ้างอิงกับราคายางในประเทศญี่ปุ่น มีตัวคูณเท่ากับ 300 และเมื่อราคามีการเปลี่ยนแปลงจะคำนวณกำไรขาดทุนกันเป็นเงินบาท อาจทำให้ผู้ประกอบการที่ต้องการประกันความเสี่ยงจากราคายางแผ่นรมควัน ไม่แน่ใจว่าจะใช้ JRF เพื่อการประกันความเสี่ยงได้หรือไม่
ซึ่งคำตอบ คือ ผู้ประกอบการสามารถใช้ JRF ในการประกันความเสี่ยงได้ดีพอสมควร เนื่องจากเมื่อพิจารณาราคายางในประเทศไทยเปรียบเทียบกับราคายางในประเทศญี่ปุ่นแล้วพบว่า มีทิศทางของแนวโน้มราคาไปในทิศทางเดียวกัน
ในส่วนของจำนวนสัญญาของ JRF เมื่อลองคำนวณมูลค่าของสัญญาออกมาแล้วพบกว่ามีมูลค่า ใกล้เคียงกับราคายาง น้ำหนัก 1 ตัน (1,000 กิโลกรัม) ดังนั้นผู้ประกอบการที่ต้องการประกันความเสี่ยงของราคายางด้วย JRF สามารถนำอัตราส่วนนี้ไปใช้งานในเบื้องต้นได้ เช่น หากต้องการประกันความเสี่ยงของราคายางจำนวน 20,000 กิโลกรัม ก็ควรซื้อขาย JRF ไม่เกิน 20 สัญญา เป็นต้น
3. JRF เทรดกันยาว ๆ ไม่มีพักกลางวัน
เนื่องจาก JRF มีสินค้าอ้างอิง คือ ราคายางในตลาดล่วงหน้าญี่ปุ่น ดังนั้นราคาที่ซื้อขายของ JRF ในทางทฤษฎีแล้วควรจะใกล้เคียงและล้อตามราคาซื้อขายแบบ Realtime ที่ญี่ปุ่นด้วย
ในบางโอกาสราคาอาจแตกต่างกันได้บ้างเล็กน้อยขึ้นกับการตอบสนองของผู้ลงทุน แต่สุดท้ายแล้วเมื่อกลับเข้าสู่เหตุการณ์ปกติราคา JRF จะไม่ควรต่างจากราคายางล่วงหน้าในญี่ปุ่นมากนัก เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนสามารถติดตามราคายางในตลาดล่วงหน้าญี่ปุ่นแล้วซื้อขาย JRF
ทาง TFEX จึงได้กำหนดเวลาซื้อขายของ JRF ให้มีช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับเวลาที่ตลาดล่วงหน้าญี่ปุ่นเปิดซื้อขายให้มากที่สุด จึงทำให้ JRF มีการเทรดกันตั้งแต่ 9.45 น. ยาวไปจนถึง 16.55 น. โดยไม่มีหยุดพักกลางวัน
4️. JRF ไม่มีการรับมอบส่งมอบสินค้าจริง
สิ่งที่ JRF ใน TFEX แตกต่างจาก Futures อ้างอิงราคายางในตลาดอื่นๆ คือ การที่ลักษณะสัญญาของ JRF กำหนดให้มีการส่งมอบและชำระราคากันเป็นเงินสด (Cash Settlement)
ดังนั้นผู้ประกอบการที่ต้องการประกันความเสี่ยงด้านราคาของยางแผ่นรมควัน ควรเข้าใจถึงลักษณะสัญญาตรงนี้ว่า เมื่อถือสัญญาจนครบอายุแล้วไม่สามารถนำสินค้ายางมารับมอบส่งมอบกันได้ แต่จะชำระราคากันเป็นเงินสด โดยรับ-จ่ายเงินส่วนต่างเพื่อนำไปชดเชยกับกำไร-ขาดทุนที่เกิดขึ้นจากการซื้อขายสินค้าจริง การที่ JRF ใน TFEX กำหนดให้มีการส่งมอบและชำระราคากันเป็นเงินสด มีข้อดี คือ ผู้ลงทุนไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับรับมอบส่งมอบสินค้าจริง จึงทำให้ผู้ลงทุนสามารถซื้อขาย JRF ใน TFEX ได้อย่างสบายใจ