TFEX
5 Min Read

Bollinger Band วัดแรงเหวี่ยง

by TFEX
Bollinger Band วัดแรงเหวี่ยง

          เครื่องมือทางเทคนิคถือเป็นหนึ่งแนวทางที่มีความนิยมใช้กันมากขึ้น โดยประโยชน์ในการใช้งานที่เหมาะกับการลงทุนระยะสั้น มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน บอกจังหวะซื้อขายได้ดีกว่าปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งถูกใจนักเทรดที่เน้นทำกำไรระยะสั้น อีกหนึ่งประโยชน์ของการวิเคราะห์ทางเทคนิคที่ใช้กันบ่อย คือการวัดแรงเหวี่ยงของราคาเพื่อสะท้อนความเสี่ยงและกรอบการเคลื่อนไหวในช่วงนั้นๆ เครื่องมือที่นิยมใช้วัดแรงเหวี่ยงอย่างเช่น RSI, Stochastic และอีกหนึ่งเครื่องมือที่นิยมใช้ในการวัดแรงเหวี่ยงรวมถึงใช้เป็นสัญญาณการซื้อขายคือ Bollinger Band

          Bollinger Band คิดค้นขึ้นโดย John Bollinger โดยพัฒนาขึ้นมาจากเส้นค่าเฉลี่ย และนำส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) มา plot ให้เกิดเส้นอีก 2 เส้นที่อยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ย 1 เส้น และต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 1 เส้น เรียกว่า upper band และ lower band ตามลำดับ ค่าเฉลี่ยใช้กันโดยทั่วไปคือเส้น SMA20 (Simple Moving Average 20 period) หรือเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่แบบให้น้ำหนักเท่ากันในทุกข้อมูลย้อนหลัง 20 ช่วง ขึ้นอยู่กับว่านักลงทุนจะใช้ time frame เท่าใด เช่น ถ้าเป็นกราฟรายวัน (1 แท่ง แทนการเคลื่อนไหวราคาในหนึ่งวัน) ก็จะใช้ราคาปิดย้อนหลัง 20 ช่วง บวกกันหารด้วย 20 หลังจากนั้นคำนวนส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานในช่วงเวลาเดียวกันเพื่อใช้ plot เส้น upper band และ lower band

          การมองความเสี่ยงของการลงทุนในแต่ละช่วงเมื่อวิเคราะห์จาก Bollinger Band นักลงทุนสามารถมองช่วงกว้างของ upper band และ lower band ถ้ายิ่งกว้างมาก หมายถึงช่วงนั้นราคามีความผันผวนสูง (ขึ้นหรือลงสูง) หรืออาจจะกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ราคากำลังอยู่ในช่วงที่มี trend ชัดเจน อาจจะเป็น trend ขาขึ้น หรือขาลง แต่ถ้า upper band และ lower band มีช่วงต่างที่แคบลง หมายถึงในช่วงนั้นๆ ราคาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบที่ไม่สูงมาก อาจจะเป็นช่วงที่ราคามีลักษณะเป็น sideway นั่นเอง

          ด้านการใช้ Bollinger Band เพื่อการตัดสินใจซื้อขายมีวิธีการให้เลือกหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการดูราคาปิดที่อยู่เหนือ upper band ที่บอกสัญญาณขาย หรือ ปิดต่ำกว่า lower band ที่เป็นสัญญาณซื้อ หรือการ W-Bottoms หรือ M-Top ประกอบการซื้อขาย

1. W-Bottoms คือการที่ราคาทำจุดต่ำสุด 2 จุด โดยจุดต่ำสุดที่ 2 ต่ำกว่าจุดต่ำสุดที่ 1 (new low) แต่ยังอยู่ในกรอบของ lower band แบบนี้จะเป็นการส่งสัญญาณซื้อ
2. M-Top คือการที่ราคาทำจุดสูงสุด 2 จุด โดย จุดสูงสุดที่ 2 สูงกว่าจุดสูงสุดที่ 1 (new high) แต่ยังอยู่ในกรอบของ upper band แบบนี้ก็จะเป็นการส่งสัญญาณขาย

          นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการใช้เครื่องมือ Bollinger Band เพื่อวัดแรงเหวี่ยง ความเสี่ยง ไปจนถึงสัญญาณซื้อขาย แต่จะใช้ประกอบการลงทุนจริงได้แม่นยำเพียงใด เหมาะสมกับการใช้ลงทุนในตลาดอนุพันธ์หรือตลาดหุ้นหรือไม่ เพื่อนๆ แชร์ความคิดเห็นกันได้หรืออาจจะให้เราหยิบเครื่องมือไหน กลเม็ดใดมาเล่าสู่กันฟัง ส่งกันมาได้ใต้ comment เลยนะครับ

ดูรายละเอียดสินค้าใน TFEX เพิ่มเติมได้ที่นี่ linkout


บทความที่เกี่ยวข้อง