วิธีการซื้อขายอนุพันธ์ต่างจากวิธีการซื้อขายหุ้นอย่างไร ?
การซื้อขายอนุพันธ์มีขั้นตอนหรือกระบวนการซื้อขายที่คล้ายกับการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์คือผู้ลงทุนที่ต้องการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ทำการสั่งซื้อหรือขายผ่านโบรกเกอร์ ซึ่งต้องเป็นสมาชิกของตลาดอนุพันธ์ เมื่อผู้ลงทุนส่งคำสั่งซื้อขายผ่านโบรกเกอร์แล้ โบรกเกอร์จะส่งคำสั่งซื้อขายมายังระบบซื้อขายของตลาดอนุพันธ์ โดยตลาดอนุพันธ์จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางคอยจับคู่คำสั่งซื้อขายด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์
วิธีการจับคู่คำสั่งซื้อขายใช้วิธีเดียวกับการจับคู่คำสั่งซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ คือ ใช้หลัก Price/Time priority โดยผู้ลงทุนจะส่งคำสั่งซื้อ (Bid) หรือคำสั่งขาย (Offer) โดยคำสั่งทุกรายการจะเข้ามาบันทึกอยู่ในระบบเพื่อรอการจับคู่สัญญาฟิวเจอร์ส จะมีการจับคู่เกิดขึ้นก็ต่อเมื่อราคาซื้อเท่ากับหรือสูงกว่าราคาขาย โดยผู้ที่ส่งคำสั่งซื้อเข้ามาจะมีฐานะเป็นผู้ซื้อ ผู้ที่ส่งคำสั่งขายเข้ามาก็จะมีฐานะเป็นผู้ขาย คำสั่งซื้อที่มีราคาสูงกว่าจะได้รับการจับคู่ก่อน คำสั่งซื้อที่มีราคาต่ำกว่า และคำสั่งขายที่มีราคาต่ำกว่าจะได้รับการจับคู่ก่อนคำสั่งขายที่มีราคาสูงกว่า ในกรณีที่ราคาสั่งซื้อหรือขายมีค่าเท่ากัน คำสั่งที่ถูกส่งเข้ามาก่อนจะได้รับการจับคู่ก่อน เมื่อระบบทำการจับคู่คำสั่งซื้อขายแล้ว ระบบจะส่งรายละเอียดของการซื้อขายนั้นผ่านไปยังสำนักหักบัญชี (TCH) เพื่อทำหน้าที่ในการชำระราคา หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ สำนักหักบัญชีจะทำหน้าที่คิดกำไรขายทุนที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และดูแลการรับและจ่ายเงินนั่นเอง สำนักหักบัญชีจึงมีบทบาทสำคัญในตลาดอนุพันธ์ โดยนอกจากดูแลการชำระราคาแล้ว ยังสร้างความน่าเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อขาย โดยเข้ามาเป็นคู่สัญญาให้กับโบรกเกอร์ และเป็นผู้รับประกันการชำระราคาตามจำนวนและเวลาที่กำหนดไว้ ทั้งนี้สำนักหักบัญชีจะวางระบบบริหารความเสี่ยงไว้เพื่อเป็นการลดความเสียหายที่อาจเกิดจากการเข้าไปรับความเสี่ยงจากคู่สัญญา โดยสำนักหักบัญชีจะกำหนดให้โบรกเกอร์ต้องวางเงินหลักประกัน (Margin) กับสำนักหักบัญชี เพื่อลดความเสียหายจากการผิดสัญญา ในขณะที่โบรกเกอร์จะกำหนดให้ลูกค้าต้องวางเงินหลักประกันไว้กับโบรกเกอร์อีกต่อหนึ่ง
นอกจากนี้สำนักหักบัญชีจะกำหนดให้ผู้ที่มีฐานะในตลาดอนุพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นฐานะซื้อหรือขายในสินค้าตัวใดก็ตาม จะต้องรับรู้กำไรหรือขาดทุนจากฐานะดังกล่าวทุกวันจนกว่าฐานะในสัญญาจะถูกปิด กระบวนการนี้เรียกว่า MARK-TO-MARKET โดยทุกสิ้นวันตลาดก็จะกำหนดราคาที่ใช้ชำระราคาสำหรับอนุพันธ์แต่ละตัว เรียกว่า SETTLEMENT PRICE จากนั้น สำนักหักบัญชีจะนำราคา SETTLEMENT PRICE นี้มาคำนวณกำไร ขาดทุนที่เกิดขึ้น แล้วนำกำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้น โอนเข้าหรือหักออกจากบัญชีเงินหลักประกัน
เริ่มต้นซื้อขายต้องทำอย่างไร
ขั้นตอนการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ วิธีง่าย ๆ ดังนี้
1. เปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ เปิดกับโบรกเกอร์ที่เป็นสมาชกิของตลาดอนุพันธ์
2. เตรียมเงินประกันให้พร้อม ในกรณีซื้อขายฟิวเจอร์ส ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องวางเงินส่วนหนึ่งก่อนที่จะส่งคำสั่งซื้อขายไว้เป็นหลักประกัน เรียกว่า เงินหลักประกันขั้นต้น (Initial Margin) ซึ่งโบรกเกอร์จะเป็นผู้กำหนดว่าผู้ลงทุนจะต้องวางหลักประกันขั้นต้นเป็นจำนวนเท่าไร
ในกรณีออปชั่นผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องวางเงินประกันขั้นต้นก่อนซื้อออปชั่น เนื่องจากผู้ซื้อสามารถจำกัดผลขาดทุนได้ จึงไม่มีความเสี่ยงว่าจะบิดพลิ้วสัญญาหรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือผู้ซื้อได้จ่ายค่าพรีเมี่ยมเป็นค่าซื้อออปชั่นตั้งแต่ตอนแรก และเมื่อสัญญาครบกำหนดอายุ ผู้ซื้อก็จะสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิออปชั่นหรือไม่ หรือจะปล่อยให้ออปชั่นหมดอายุไป จึงไม่มีความเสี่ยงว่าจะบิดพลิ้วสัญญาที่ทำไว้
แต่สำหรับผู้ขายถือว่ามีความเสี่ยงที่จะบิดพลิ้วสัญญา เนื่องจากหากผู้ซื้อออปชั่นขอใช้สิทธิผู้ขายจะต้องปฏิบัติตามสัญญาโดยยอมให้ผู้ซื้อใช้สิทธิ์ซึ่งในกรณีเหล่านี้ปกติแล้วผู้ขายจะขาดทุน ผู้ขายออปชั่นมีแนวโน้มที่จะบิดพลิ้วสัญญามากกว่าผู้ซื้อ ดังนั้นในการขายออปชั่นผู้ขายจะต้องวางเงินหลักประกันขั้นต้นก่อนการขายในระดับที่โบรกเกอร์กำหนด
3. ส่งคำสั่งซื้อขายผ่านโบรกเกอร์
การส่งคำสั่งต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ต้องการ “ซื้อ” หรือ “ขาย” อนุพันธ์ “ประเภทใด”
ต้องการซื้อ หรือ ขายที่ “ราคา” เท่าใด
ต้องการซื้อ หรือ ขาย “จำนวน” กี่สัญญา
4. สรุปกำไรขาดทุนทุกวัน
ในกรณีฟิวเจอรส์จะมีการคำนวณเงินกำไรขาดทุนทุก ๆ สิ้นวันทำการ เรียกว่าการ Mark to Market หากลูกค้ามีผลกำไร ก็จะมีการโอนเงินส่วนกำไรเข้าบัญชีในวันทำการถัดไป แต่หากขาดทุนก็จะมีการโอนเงินออกจากบัญชีผู้ลงทุนเช่นกัน ดังนั้นหลักประกันขั้นต้นที่ลูกค้าวางไว้ตั้งแต่แรกอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามจำนวนกำไรขาดทุนที่เกิดขึ้น ถ้าได้กำไรเงินในบัญชีจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ถ้าหากขาดทุนเงินในบัญชีจะลดลง และหากขาดทุนไปเรื่อย ๆ จนต่ำกว่าระดับที่กำหนดไว้ คือ “หลักประกันรักษาสภาพ (Maintenance Margin)” โบรกเกอร์จะเรียกเก็บเงินประกันเพิ่มขึ้น หรือที่เรียกว่า “Margin Call” โดยลูกค้าต้องนำเงินมาวางเพิ่มให้เท่ากับหลักประกันขั้นต้นอีกครั้งหนึ่ง ในกรณีออปชั่น หากเป็นฝั่งผู้ซื้อ ซึ่งไม่มีการวางเงินหลักประกันตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ก็จะไม่มีการ Mark to market เช่นกัน แต่สำหรับฝั่งผู้ขาย การ Mark to Market จะแตกต่างจากของฟิวเจอร์ส คือ จะไม่มีการโอนเงินกำไรขาดทุนทุกสินวัน แต่จะมีการคำนวณหลักประกันขั้นต้นและหลักประกันรักษาสภาพใหม่ทุกวันตามความเสี่ยงของผู้ลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น เงินหลักประกันของผู้ลงทุนจะคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่หากวันใดที่ระดับราคาสินทรัพย์อ้างอิงเปลี่ยน ทำให้ผู้ขายมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจนโบรกเกอร์กำหนดหลักประกันใหม่ที่สูงกว่าระดับเงินที่ผู้ขายวางไว้ ผู้ขายออปชั่นก็จะต้องนำเงินหลักประกันมาวางเพิ่มเติมให้มีค่าอย่างน้อยเท่ากับหลักประกันขั้นต้นค่าใหม่ที่โบรกเกอร์
5. หมั่นเช็คสถานะ
เมื่อซื้อขายฟิวเจอร์ส หรือออปชั่นไปแล้ว ผู้ลงทุนควรตรวจสอบสถานะของตนอยู่ตลอดเวลาว่ามีกำไรหรือขาดทุนเป็นอย่างไรบ้าง โดยตรวจสอบว่า
- ได้กำไรเป็นที่พอใจหรือไม่มีโอกาสที่จะได้รับกำไรต่อไปมากน้อยแค่ไหน ?
- ยังสามารถทนต่อระดับการขาดทุนที่ต้องเรียกหลักประกันเพิ่มเติมทุกวันได้หรือไม่ ?
ทั้งนี้ผู้ซื้อหรือผู้ขายสามารถเลือกที่จะปิดสถานะของตนเองได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องรอจนสัญญาสิ้นสุดอายุ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ซื้อสามารถขายสัญญาที่ตนเคยซื้อไว้ ในขณะที่ผู้ขายก็สามารถซื้อสัญญาที่ตนเคยขายไว้เพื่อเป็นการปิดสถานะได้ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อการปิดสถานะ)