“การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน” คำนี้ท่านที่เคยลงทุนหรือศึกษาเรื่องการลงทุนคงเคยคุ้นหูคุ้นตากันมาพอสมควรแต่ทราบหรือไม่ครับว่าความเสี่ยงในการลงทุนคืออะไร?
ความเสี่ยงในตลาดการลงทุนหมายถึงความไม่แน่นอนของผลตอบแทนยิ่งเราคาดการณ์ผลตอบแทนได้ยากหรือสินทรัพย์มีความผันผวนสูงจนเราไม่สามารถประเมินผลตอบแทนได้ยิ่งมีความเสี่ยงซึ่งความเสี่ยงในที่นี้ก็จะหมายถึงความเสี่ยงที่จะขาดทุนและความเสี่ยงที่จะกำไร!! ใช่แล้วครับอ่านไม่ผิดเมื่อสินทรัพย์มีความผันผวนสูงถ้านักลงทุนเลือกลงทุนได้ถูกทางและถูกจังหวะก็จะสามารถสร้างกำไรได้มากเช่นกันจึงมีคำพูดว่า high risk – high return ส่วนการลงทุนที่เสี่ยงต่ำก็จะหมายถึงสินทรัพย์ที่เราสามารถคาดการณ์ผลตอบแทนได้มีการคุ้มครองเงินต้นหรือมีความผันผวนต่ำตัวอย่างเช่นเงินฝากที่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ชัดเจนถ้าฝากเงินตามระยะเวลาที่กำหนดก็จะได้รับดอกเบี้ยแบบนี้เป็นต้น
แต่ทราบไหมครับว่านอกจากความเสี่ยงในความไม่แน่นอนของผลตอบแทนแล้วในการลงทุนยังมีความเสี่ยงอื่นด้วยเช่นการลงทุนที่มีการจับคู่ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายก็จะมีความเสี่ยงของคู่สัญญาที่อาจจะมีการผิดนัดชำระหนี้หรือมีสินทรัพย์ไม่เพียงพอต่อการชำระราคาหรือความเสี่ยงของตัวกลางการซื้อขายที่อาจจะปิดกิจการหรือมีปัญหาด้านการดำเนินงานทั้ง 2 ส่วนนี้ก็ถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่นักลงทุนจะต้องให้ความสำคัญ
ในส่วนแรกคือความเสี่ยงของคู่สัญญาถ้านักลงทุนลงทุนผ่านตลาด TFEX ที่ตราสารการลงทุนมีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขายแน่นอนว่าจะเป็นลักษณะของการจับคู่ระหว่างผู้ที่ต้องการซื้อ (Long Position) และผู้ขาย (Short Position) ตลาด TFEX ได้กำหนดให้นักลงทุนทั้งฝั่งซื้อและฝั่งขายมีการวางหลักประกันและมีการบริหารหลักประกันอย่างเป็นระบบเพื่อมิให้อัตราหลักประกันเหลือน้อยจนเกินไปซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการชำระราคาแบบนี้จึงมั่นใจได้ว่าคู่สัญญาจะมีเงินเพียงพอต่อการชำระราคาหรือถ้าคู่สัญญาไม่สามารถถือสถานะสัญญาต่อได้เนื่องจากไม่มีหลักประกันก็จะถูกบังคับให้ปิดสถานะเพื่อมิให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มแต่นอกจากนั้นทราบหรือไม่ว่าทุกครั้งที่นักลงทุนลงทุนในตลาด TFEX คู่สัญญาที่แท้จริงมิใช่เป็นผู้ลงทุนที่เปิดสถานะอีกข้างแต่คือสำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) หรือ TCH ทำให้มั่นใจได้ว่าเมื่อมีกำไรผู้ลงทุนจะได้รับกำไรนั้นตามการลงทุน
ในส่วนที่สองคือความเสี่ยงของบริษัทตัวกลางในการรับคำสั่งซื้อขายอย่างที่ทราบกันดีว่าการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) หรือตลาดอนุพันธ์ (TFEX) ในประเทศไทยจะต้องซื้อขายผ่านบริษัทสมาชิกที่ได้รับอนุญาตจากตลาดหลักทรัพย์หรือตลาดอนุพันธ์หรือที่เรียกกันว่าโบรกเกอร์ซึ่งบริษัทโบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกจะต้องผ่านหลักเกณฑ์เช่นการมีเงินทุนจำนวนที่กำหนดการมีระบบซื้อขายที่มีประสิทธิภาพการมีผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนที่ขึ้นทะเบียนให้มั่นใจว่าจะแนะนำการลงทุนได้อย่างเหมาะสมแต่ถ้าโบรกเกอร์เกิดปัญหาเช่นล้มละลายหรือมีการดำเนินงานผิดพลาดทำให้เกิดความเสียหายกับเงินลงทุนของเราล่ะจะทำอย่างไร
เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ลงทุนที่ลงทุนกับโบรกเกอร์ที่ได้รับอนุญาตจากตลาด TFEX จะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมจึงมีการจัดตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives Investor Protection Fund หรือ DIPF) ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างตลาด TFEX และบริษัทโบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกเพื่อเป็นหลักประกันให้นักลงทุนมั่นใจว่าการเลือกลงทุนอนุพันธ์ผ่านโบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกจะได้รับความคุ้มครองทรัพย์สินที่มอบไว้ในความดูแลของโบรกเกอร์โดยจะได้รับการจ่ายเงินชดเชยจากกองทุนฯตามหลักเกณฑ์ที่ตลาด TFEX กำหนด
การคุ้มครองมีเงื่อนไขการคุ้มครองดังนี้
(1) ผู้ลงทุนเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย (ไม่รวมผู้ลงทุนสถาบันตามตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้าพ.ศ.2546)
(2) ได้รับคืนเป็นเงินสดหรือเป็นสินทรัพย์ที่ซื้อขายล่วงหน้าในกรณีที่ผู้ลงทุนไม่ได้รับคืนทรัพย์สินที่มอบไว้ในความดูแลของโบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกของกองทุนในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้
- โบรกเกอร์และผู้ลงทุนมีข้อพิพาททางแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาด TFEX และอนุญาโตตุลาการได้พิจารณาขี้ขาดให้โบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกกองทุนคืนทรัพย์สินแก่ผู้ลงทุนและโบรกเกอร์ไม่สามารถปฎิบัติตามคำชี้ขาดได้
- โบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกกองทุนถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยการล้มละลาย
เท่านี้นักลงทุนก็สามารถมั่นใจได้ว่าเงินที่ลงทุนผ่านโบรกเกอร์สมาชิกจะถูกคุ้มครองแต่นักลงทุนยังต้องประเมินเรื่องความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนนะครับ
ดูรายละเอียดสินค้าใน TFEX เพิ่มเติมได้ที่นี่