"ดอลลาร์แข็งค่า" ครั้งนี้ กระทบอะไร "ใคร"บ้าง?
อย่างที่หลายคนรู้กันดีอยู่แล้วว่า ในโลกแห่งการลงทุนมีขึ้นก็มีลง เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน มีแข็งค่าและอ่อนค่าสลับกันไป ตามปัจจัยทางเศรษฐกิจ การไหลของเงิน Demand และ Supply ของแต่ละสกุลเงิน โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาธนาคารกลางต่างๆ ใช้มาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากหลากหลายปัญหาที่กระทบต่อภาคการเงินการลงทุน การเกิดการเปลี่ยนแปลงก็จะทำให้เกิดความผันผวนมากเป็นเรื่องธรรมดา
ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าอย่างมากหลังจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เพื่อหวังจะควบคุมเงินเฟ้อ ที่เร่งสูงขึ้นจากทั้งราคาพลังงาน อาหาร และที่สำคัญคือผลกระทบจากการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินในอดีต ที่ทำให้ปริมาณของเงินเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ “ใคร” จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้บ้าง
คำตอบก็คือ ทุกคนได้รับผลกระทบหมด ขึ้นอยู่ว่า "กระทบมาก" หรือ "กระทบน้อย"
ผู้ที่ได้รับผลมาก
-ธุรกิจที่นำเข้าและพึ่งพาสินค้าจากต่างประเทศซึ่งต้องชำระเป็นเงินดอลลาร์
-ผู้ที่มีหนี้สินเป็นสกุลเงินดอลลาร์
เหล่านี้คือผู้ที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ขณะที่คนส่วนมากได้รับผลกระทบทางอ้อม เช่น การปรับตัวลงของตลาดหุ้นที่เป็นผลมาจากเงินทุนไหลออก ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนสินค้าและพลังงานที่สูงขึ้น ต้นทุนค่าเล่าเรียนที่ไปเรียนต่างประเทศ ต้นทุนการท่องเที่ยงต่างประเทศ ฯลฯ
คนที่เสียประโยชน์จากสภาวะดอลลาร์แข็งค่า ทำอย่างไรได้บ้าง?
ผู้นำเข้าที่ต้องจ่ายต้นทุนนำเข้าสินค้าที่แพงขึ้น หรือคนที่มีภาวะหนี้สินสกุลเงินต่างประเทศแทนที่จะจ่ายชำระหนี้ให้หมดไป ก็กลายเป็นว่าต้องใช้ปริมาณเงินบาทที่มากขึ้นมาจ่ายหนี้สินวิธีหนึ่งที่ใช้ป้องกันความเสี่ยงได้คือใช้เครื่องมือ USD Futures ซึ่ง USD Futures คือสัญญาซื้อขายดอลลาร์ล่วงหน้า ในตลาด TFEX ที่สามารถนำมาใช้รับมือจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะตลาดขาขึ้น หรือตลาดขาลง เราก็สามารถใช้ USD Futures ป้องกันความเสี่ยงได้ หากคาดว่าในอนาคตค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นก็ให้เปิดสถานะซื้อล่วงหน้า (Long Position) และตรงกันข้ามหากคุณคาดว่าในอนาคตค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ก็ให้ทำการเปิดสถานะขายล่วงหน้า (Short Position) โดยปกติแล้วคุณสามารถเลือกกลยุทธ์ลงทุนใน Futures ได้ว่าต้องการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวน (Hedging) หรือเก็งกำไร (Speculation) ซึ่งเราจะขยายความการใช้งานเพื่อป้องกันความเสี่ยงนี้ครับ
กลยุทธ์ถัวความเสี่ยง (Hedging)
Hedging คือหนึ่งในวิธีป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของสินทรัพย์ ด้วยการเข้าไปเปิดสถานะ Futures ในด้านตรงกันข้ามกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อชดเชยกับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์
สำหรับการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ (เงินบาทอ่อน) อาจจะพอยกตัวอย่างกลยุทธ์ถัวความเสี่ยง (Hedging) ได้ดังนี้
สมมติว่าผู้ลงทุนมีหนี้ที่ต้องชำระเป็นเงินดอลลาร์ในอีก 2 เดือนข้างหน้าจำนวน 10,000 ดอลลาร์
และคาดว่าเงินบาทน่าจะอ่อนค่าจาก 34 เป็น 35 บาทในอีก 2 เดือนข้างหน้า
- หนี้ปัจจุบันมีมูลค่าเป็นเงินบาทเท่ากับ10,000 x 34 = 340,000 บาท
- เริ่ม Long USD Futures ในมูลค่าเท่ากับจำนวนหนี้ ซึ่ง 1 สัญญามีมูลค่า 1,000 ดอลลาร์ ต้อง Long จำนวน 10 สัญญา เท่ากับ (1,000 x 34) x 10 =340,000 บาท
1. กรณี ที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า (เงินบาทอ่อน) ตามที่คาดการณ์ เป็น 35 บาท / ดอลลาร์สหรัฐฯ
- หนี้ ณ 2 เดือนข้างหน้าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น10,000 x 35 = 350,000 บาท (เท่ากับมีหนี้เพิ่มขึ้น 10,000 บาท)
- USD Futures = [(35 - 34) x 1,000] x 10 = กำไร 10,000 บาท ซึ่งก็จะสามารถนำเงินที่ได้จากกำไร USD Futures มาชดเชยจำนวนหนี้ที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น
2. กรณี ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า หรือไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ ผู้ป้องกันความเสี่ยงก็จะสามารถรักษาระดับการจ่ายหนี้ที่ใกล้เคียงเดิม แม้ว่าจะขาดทุนจาก USD Futures ซึ่งเราใช้เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง แต่ก็จะสามารถนำหนี้ที่ลดลงจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (เงินบาทแข็ง) มาชดเชยได้เช่นกัน
เห็นได้ว่าหลังจากที่ทำ Hedging ถัวความเสี่ยงผลลัพธ์ที่ได้จะทำให้มูลค่าหนี้ที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์โดยรวมใกล้เคียงเดิม ทำให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนส่วนนี้ได้ อย่างไรก็ดี USD Futures ยังสามารถใช้ในการสร้างผลกำไรได้เช่นกันจากการลงทุนตามทิศทางที่คาดไว้ เพื่อนๆ ท่านไหนสนใจอยากนำ USD Futures ไปใช้ป้องกันความเสี่ยงให้กับพอร์ตของคุณ หรือใช้ในการสร้างผลตอบแทนในตลาดดอลลาร์ขาขึ้น สามารถศึกษาเพิ่มเติม คลิก
https://www.tfex.co.th/site/investor/tfex-learning/article/8297
https://www.tfex.co.th/site/investor/tfex-learning/article/8263
ดูรายละเอียดสินค้าใน USD Futures เพิ่มเติมได้ที่นี่