สิงหาคม...น่าจะเป็นเดือนที่เราเห็นการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยโดยดัชนี SET ฟื้นตัวจากใกล้ระดับ 1,575 จุด ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ไปใกล้จุดสูงสุดประมาณ 1,643 จุด ในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา จากหลากหลายปัจจัยที่เป็นรูปธรรมอย่างการลดมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ที่เริ่มทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นตามลำดับ แม้จะมีสถานการณ์ภายนอกที่ยังดูสุ่มเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยของ FED การสู้รบระหว่างรัสเซีย ยูเครน และความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวัน แต่การฟื้นตัวนี้จะต่อเนื่องไปในเดือนกันยายนหรือไม่ อันนี้ต้องติดตามกันครับ Derivatives Voices สัปดาห์นี้จะขอหยิบยกประเด็นสำคัญที่น่าจะส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัว เพื่อเป็นการสรุปประจำเดือนกัน
“เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง เติบโต 2.5% ในไตรมาส 2”
จากรายงานการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) สะท้อนการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจไทยเติบโต 2.5% ในไตรมาส 2 เป็นการเติบโต 3 ไตรมาสติดต่อกันตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว และเติบโตเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 (ไตรมาส 1 เติบโต 2.3%) ตัวเร่งสำคัญจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 สะท้อนผ่านการเติบโตในหมวดที่พักแรมและบริการด้านอาหารที่เติบโตถึง 44.9% ภาคการเกษตรเองก็ขยายตัวได้ 4.4% โดยเฉพาะข้าวเปลือก ถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และผลไม้ ส่วนอีกหนึ่งตัวเลขที่น่าสนใจคือการเติบโตของการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน (Private Final Consumption Expenditure) ที่เติบโต 6.6% สะท้อนว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมาจากปัจจัยภายในเป็นสำคัญ
“มุมมองผู้กำหนดนโยบายยังเป็นบวก แม้จะต้องต่อสู้เงินเฟ้อ”
เมื่อพิจารณาผ่านมุมมองผู้กำหนดนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายทางการเงินผ่าน กนง. ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวที่ชัดเจนและอาจจะกลับไปสู่ระดับเดียวก่อนเกิดโควิด-19 ได้ภายในสิ้นปีนี้ แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับสูง จึงมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากระดับ 0.50% เป็น 0.75% ซึ่งก็เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้จึงไม่กระทบต่อการลงทุนมากนัก
“กันยายนยังเสี่ยง ปัจจัยภายนอกกระทบการเคลื่อนย้ายเงิน”
แม้ในเดือนสิงหาคมตลาดหุ้นไทยมีการฟื้นตัวต่อเนื่องมากกว่า 4% ซึ่งได้รับผลเชิงบวกต่อมุมมองเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นหลังผ่อนคลายมาตรการ ขณะปัจจัยเสี่ยงภายนอกลดน้อยลงจากระดับราคาน้ำมันที่ไม่เพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงก่อน และการปรับนโยบายของธนาคารกลางสำคัญอย่าง FED ไม่ได้เกินกว่าที่คาดการณ์กันไว้ อย่างไรก็ดีในเดือนกันยายนยังมีอีกหลายปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง เช่น การรบในยูเครนที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ ขณะที่ยุโรปเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวอาจจะทำให้ผลกระทบจากราคาพลังงานกลับมากระทบต่อการลงทุน ด้านเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูงและถ้าได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีอาจจะทำให้ FED ต้องเพิ่มมาตรการในอนาคต ซึ่งจะกระทบต่อการไหลของเงินอีกครั้ง ด้านจีนซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่และเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกยังคงมีปัญหาด้านเศรษฐกิจทั้งที่เกิดจากมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ปัญหาหนี้สินของธุรกิจอสังหาฯ และผลกระทบจากสงครามการค้า ดังนั้นแม้ตลาดจะเริ่มมีการฟื้นตัวแต่ยังมีโอกาสที่จะมีความผันผวนในอนาคต
แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าตลาดการลงทุนก็มีความผันผวนและอ่อนไหวต่อปัจจัยต่างๆ เป็นธรรมดา สำหรับนักลงทุนที่คุ้นชินกับการลงทุนคงพอเข้าใจกันดีว่าในห้วงของความผันผวนก็มีทั้งความเสี่ยงและโอกาส ขึ้นอยู่กับใครจะวิเคราะห์และตัดสินใจได้ถูกต้อง
การรู้จักและมีเครื่องมือที่สามารถลงทุนได้ทุกสภาวะตลาดอย่าง Futures และ Options จะทำให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากความผันผวนของตลาดได้ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมคลิก
https://www.tfex.co.th/site/investor/tfex-learning/article/7606
https://www.tfex.co.th/site/investor/tfex-learning/article/8034
ดูรายละเอียดสินค้าใน TFEX เพิ่มเติมได้ที่นี่