TFEX
5 Min Read

สรุปประเด็น Workshop "วางกลยุทธ์เทรด TFEX สุดล้ำด้วย Auto Elliott Wave”

by TFEX
สรุปประเด็น Workshop "วางกลยุทธ์เทรด TFEX สุดล้ำด้วย Auto Elliott Wave”

TFEX FX Futures Trading Challenge 2022
สรุปประเด็น Workshop "วางกลยุทธ์เทรด TFEX สุดล้ำด้วย Auto Elliott Wave”

 

          เดินทางมาถึงวันสุดท้ายแล้วสำหรับงาน Workshop หลังจากทำความรู้จักกับ FX Futures กันมาแล้ว วันนี้มาทำความเข้าใจปัจจัยที่กระทบค่าเงินต่างๆ รวมถึงกลยุทธ์เกี่ยวกับ Elliott Wave ในหัวข้อ "วางกลยุทธ์เทรด TFEX สุดล้ำ ด้วย Auto Elliott Wave" โดยคุณทรงศักดิ์ โทแก้ว (อ.ต๋อม) นักลงทุนสไตล์ Hybrid ผู้เชี่ยวชาญการใช้ Auto Wave เจ้าของ Fanpage : Stock Clinic Revolution
 

รู้จัก FX และ FX Futures ใน TFEX
          ตลาดค่าเงินนั้นเป็นตลาดการเงินที่ใหญ่มากที่สุดในโลก ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ $5.5 ล้านล้าน ต่อวัน เมื่อลองเปรียบเทียบกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ประมาณ $1.5 พันล้าน ต่อวัน ก็จะเห็นภาพได้ว่าตลาดค่าเงินนั้นค่อนข้างใหญ่มาก โดยตลาดค่าเงินมักจะใช้ค่าเงินดอลลาร์เป็นคู่เปรียบเทียบกับค่าเงินอื่น เช่น EUR/USD, USD/JPY หรือ GBP/USDที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด ซึ่งหากเราจะดูความแข็งแรงของค่าเงินดอลลาร์ เราสามารถดู US Dollar Index ได้ เป็นดัชนีที่ถ่วงน้ำหนักมูลค่าดอลลาร์กับสกุลเงินยอดนิยมอื่นๆ

          - Currency Pairs
คือค่าเงินของ 2 สกุลที่นำมาเปรียบเทียบกัน โดยยึดค่าเงินที่ขึ้นต้นเป็นหลัก เช่น EUR/USD = 1.0868หมายความว่า 1 ยูโร มีค่าเท่ากับ 1.0868 ดอลลาร์ หากทำคำสั่งซื้อก็จะยึดค่าเงินที่ขึ้นต้นเช่นกัน ในตัวอย่างนี้ก็คือการซื้อค่าเงิน EUR หากกราฟขึ้นเราจะได้กำไร

          - ข้อดีของ FX Futures ใน TFEX
ถูกต้องตามกฎหมาย มีมาตรฐาน และอยู่ภายใต้การกำกับดูแล ซึ่งคิดกำไรขาดทุนเป็นเงินบาททำให้ไม่มีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนในการฝาก/ถอนเงิน โดยนำร่องด้วยสกุลเงิน EUR/USD, USD/JPY ที่มีความนิยมมากสุดมาเริ่มเทรดก่อน
 

การวิเคราะห์แนวโน้ม FX Futures ด้วยปัจจัยพื้นฐาน
          ปัจจัยพื้นฐานเป็นการดูแนวโน้มระยะยาวของสินทรัพย์นั้นๆ ว่าน่าสนใจหรือมีโอกาสเติบโตหรือไม่ เพื่อเป็นการคัดสินทรัพย์ในการเทรด ส่วนเทคนิคอลจะเป็นการหาแนวรับ/แนวต้าน จังหวะเข้าซื้อหรือหาราคาเป้าหมายในการขาย ที่เป็นตัวเลขชัดเจน

วงจรวัฎจักรเศรษฐกิจ
(1) ระยะฟื้นตัว Recovery
          เริ่มต้นมาจากช่วงที่ GDP ติดลบแล้วค่อยๆ ฟื้น GDP กลับมาเป็นบวก เป็นสัญญาณการฟื้นตัวหลังจากเศรษฐกิจตกต่ำสุด อัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยยังต่ำ
(2) ระยะเฟื่องฟู Peak
          เป็นช่วงที่ GDP เพิ่มสูงที่สุด เศรษฐกิจขยายตัว ทุกคนมั่งคั่งกล้าใช้จ่าย เป็นช่วงที่ราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวสูงขึ้นอย่างร้อนแรง เริ่มเกิดเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยเริ่มเป็นขาขึ้น
(3) ระยะถดถอย Recession
          ตัวเลข GDP เริ่มลดลงจากจุดสูงสุด มีแนวโน้มปรับตัวลดลง เศรษฐกิจชะลอการเติบโต อัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูง เมื่อพิจารณาปัจจัยเหล่านี้แล้วคาดว่าตลาดสหรัฐฯ น่าจะอยู่ในช่วงระยะนี้
(4) ระยะตกต่ำ Trough
          GDP หดตัวจนอาจกลับมาเป็นติดลบ กำลังซื้อภาคประชาชนไม่กล้าจับจ่าย อัตราเงินเฟ้อเริ่มลดลงจนเวลาผ่านไปวนกลับไปที่ระยะฟื้นตัวอีกครั้ง ซึ่งจะรู้ได้อย่างไรว่าตลาดสหรัฐฯ เตรียมจะกลับตัวไปสู่ระยะฟื้นตัว ให้พิจารณาจาก GDP ว่าลงมาถึงจุดต่ำสุดไหมตัวเลขเงินเฟ้อลงมาถึงจุดที่ FED ต้องการหรือยัง และเริ่มมีสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยเป็นขาลงไหม
 

ธนาคารกลางสหรัฐฯ FED
แนวทางการแก้ไขปัญหาของ FED จะมี 3 วิธี
(1) หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย มักจะใช้นโยบายการลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้เกิดการใช้จ่าย และการใช้นโยบาย Quantitative Easing (QE) หรือเข้าไปซื้อตราสารหนี้เพื่อเสริมสภาพคล่องและกระตุ้นเศรษฐกิจ
(2) หากเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง มักจะใช้นโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดการจับจ่ายลง และการใช้นโยบาย Quantitative Tightening (QT) หรือลดการถือครองสินทรัพย์ลง เป็นการนำเงินออกจากระบบเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ
(3) Yield Curve Control เป็นการกดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวไม่ให้สูงขึ้น แล้วอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะค่อยๆ ลดลงมา แต่ในปัจจุบัน FED จะมักเลือกใช้นโยบาย QE และ QT ในการแก้ไขปัญหาเป็นหลัก
หากลองย้อนดูข้อมูลก่อนหน้านี้จะเห็นว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ขึ้นมาพร้อมกับการทำ QE มาโดยตลอดซึ่งตลาดสหรัฐฯ ปัจจุบันตอนนี้อาจจะต้องเจอการพักตัวก่อน เพื่อรอจังหวะอัดฉีด QE รอบใหม่หรือต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อเป็นขาขึ้นอีกครั้ง
 

ปัญหาของ FED
          ในช่วงนี้ที่ตลาดหุ้นถดถอย GDP ติดลบ มีอัตราเงินเฟ้อสูง เมื่อดูสินทรัพย์จาก FED Balance Sheet ตอนนี้มีสัดส่วนของ Bank Reserves ที่ค่อนข้างสูง และมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ จึงมีนโยบายทำ QT ลดการถือครองสินทรัพย์ลงที่มากกว่าเดิมถึง $95,000 ล้านต่อเดือน เป็นเวลา 12 เดือน จึงจะทำให้ตลาดยังขาดสภาพคล่องไปอีกถึง 11 เดือน ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยากที่จะขึ้นได้ต่อ

การขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ กระทบอะไรบ้าง
(1) ดอกเบี้ย การที่ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นก็จะกระตุ้นการฝากเงิน ลดแรงจูงใจในการจับจ่าย ในฝั่งผู้กู้ก็จะมีต้นทุนมากขึ้นทำให้ผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนมีจำนวนน้อยลง
(2) สินเชื่อ ต้นทุนภาระหนี้สินที่มีแนวโน้มสูงขึ้น นำไปสู่ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของธุรกิจ ทำให้ไม่ค่อยมีใครอยากขยายธุรกิจ กระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและสภาพคล่องในตลาดการลงทุน
(3) ราคาสินทรัพย์ ในเมื่อประชาชนออมเงินฝากมากขึ้น ก็ไปลดการออมในรูปแบบอื่น เช่น ลดการลงทุนในหุ้น หรือพันธบัตร
(4) อัตราแลกเปลี่ยน เงินจะไหลเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ดอลลาร์มากขึ้น เกิดความต้องการเงินดอลลาร์เพพิ่ม ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า
(5) ประชาชน ลดแรงจูงใจในการจับจ่ายสินค้าและบริการลง ทำให้แนวโน้มราคาสินค้าและเงินเฟ้อปรับตัวลดลง
 

การคาดการณ์เศรษฐกิจ
          IMF ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปี 2565 สู่ระดับ 2.3% และในปี 2566 เหลือแค่ระดับ 1.0% การที่ IMF มีมุมมองในระดับนี้แปลว่ายังมองตลาดสหรัฐฯ ยังอยู่ในช่วงระยะถดถอย ไปจนถึงระยะตกต่ำในปีหน้า ซึ่งหลังจากตลาดลงมาต่ำสุดก็จะเป็นโอกาสในการลงทุนนั่นเอง
 

สรุปปี 2022-2023
          การใช้นโยบายขึ้นดอกเบี้ยของ FED จะยังมีอยู่คาดปรับถึงระดับ 4.5-5% เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อให้ได้ จนกว่าระดับเงินเฟ้อจะลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 2%และใช้นโยบาย QT ลดสภาพคล่องต่อเนื่องถึง ก.ย. 2023 ด้วยวงเงิน $1.14 ล้านล้าน ตัวเลข GDP และดัชนี Dow Jones ยังเป็นแนวโน้มลดลง ส่วนค่า Vix Indexที่บอกถึงความกังวลของตลาดยังอยู่ค่อนข้างสูงบ่งบอกถึงตลาดยังสามารถปรับตัวลงได้ อัตราดอกเบี้ยยังปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง และ Dollar Index ยังแข็งค่าเรื่อยๆ จากการขึ้นดอกเบี้ยของ FED จนกว่าเงินเฟ้อจะลดลง
 

Trading System Design
          ในการพัฒนาระบบต่างๆ มักจะอ้างอิงทฤษฎีปัจจัยทางเทคนิคจาก Price Pattern (Dow Theory & Elliott Wave), Trend Line, Fibonacciและ Demand & Supply Zoneเป็นหลัก ซึ่งจะค่อยๆ ทำความเข้าใจกันเริ่มจาก
 

Dow Theory
          เป็นการดูแนวโน้มของตลาดโดยมีรูปแบบหลักๆ 3 รูปแบบ
(1) แนวโน้มใหญ่ หรือ Primary Trend มีระยะเวลามากกว่า 1-3 ปี โดยใช้ Timeframe รายสัปดาห์ในการพิจารณา
(2) แนวโน้มกลาง หรือ Intermediate Trend มีระยะเวลามากกว่า 3 สัปดาห์ – 3 เดือน โดยใช้ Timeframe 4 ชม. ในการพิจารณา
(3) แนวโน้มระยะสั้น หรือ Minor Trend มีระยะเวลามากกว่า 1 วัน – 1 เดือน โดยใช้ Timeframe 15 นาที ถึง 1 ชม. ในการพิจารณา
ให้มองถึงมูลค่าในอนาคต อย่าอยู่กับปัจจุบัน เพราะราคาในอนาคตจะสะท้อนมูลค่าจริงเสมอ
 

Elliott Wave Theory
          เป็นการนำทฤษฎี Dow มาพัฒนาต่อโดยประกอบไปด้วย 5 Wave ใหญ่ในการขึ้น 1, 2, 3, 4, 5 เรียกว่า Motive Wave และ 3 Wave ใหญ่ในการลง a, b, c เรียกว่า Corrective Wave ซึ่งใน Wave ขาขึ้นใหญ่แต่ละ Wave ก็จะประกอบด้วย Wave ย่อยลงไปอีก เช่น ในขาขึ้น Wave ใหญ่เริ่มจาก 0 ไปจุดที่ 1 จะประกอบไปด้วย Wave ย่อย (1), (2), (3), (4), (5)เมื่อครบ เตรียมลง Wave ใหญ่ไปจุดที่ 2 ช่วงพักตัว จะประกอบไปด้วย Wave ย่อย (a), (b), (c) และให้นับ Wave ใหญ่ในขาขึ้นจุดที่ 3 ต่อไปจนถึงจุดสูงสุดที่ Wave 5 แต่หลังจากนี้การนับ Wave ใหญ่ในการลง a, b, c การนับ Wave ย่อยจะสลับกันกับขาขึ้นแล้ว เช่น เริ่มขาลงใหญ่จากจุดที่ 5 ไป a เราจะนับ Wave ย่อย (1), (2), (3), (4), (5) เมื่อครบ เตรียมขึ้น Wave ใหญ่ไปจุด b จะประกอบไปด้วย Wave ย่อย (a), (b), (c)แทน ซึ่งเราสามารถนับ Elliott Wave ใหญ่ได้จากTimeframe ใหญ่ และใช้Timeframe ย่อยในการนับ Wave ย่อย
 

ข้อดีข้อเสียของ Elliott Wave
          ทำให้เรามองเห็นจุดกลับตัวที่น่าจะเกิดขึ้นได้ สามารถพิจารณาแนวโน้มใหญ่ไปถึงการมองเห็นแนวโน้มย่อย เพื่อเลือกเทรดฝั่งที่ได้เปรียบ แต่เครื่องมือนี้ค่อนข้างยากในการพิจารณาหาจุดเริ่มหรือจุดสิ้นสุด ซึ่งในปัจจุบันโปรแกรม MT4 เราสามารถใช้เครื่องมือ Auto Elliott Wave ในการนับ Wave ให้แบบอัตโนมัติ รวมถึงหาราคาเป้าหมายจาก Fibonacci ที่วัดอัตโนมัติให้เช่นกัน
 

ตัวอย่าง Mindset ที่ดีในการเทรด
(1) ไม่เอาจำนวนเงินมาเป็นที่ตั้ง ควรโฟกัสไปที่เปอร์เซ็นที่เราได้กำไร/ขาดทุน มากกว่า เช่น หากเพื่อนเราได้กำไรจำนวน 100,000 บาท ดูเป็นจำนวนเงินที่เยอะ แต่ถ้าบอกว่าเป็นการลงทุนจากพอร์ตมูลค่า 10 ล้านบาท เมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นแล้วคือ 1% เท่านั้น แต่หากพอร์ตเรามูลค่า 100,000 บาท ได้กำไรจำนวน 5,000 บาท เทียบแล้วคือได้ถึง 5% ให้มองไปที่อัตราการเติบโตจะดีกว่า
(2) ยอมรับความเสี่ยงในการลงทุนได้ เพราะทุกการลงทุนต้องมีความเสี่ยงอยู่แล้ว
(3) ไม่ว่ากำไรหรือขาดทุน ต้องทำใจให้กลับมาเป็นปกติให้ได้โดยเร็ว
(4) พัฒนาทักษะการเทรดอยู่เสมอ การไม่หยุดนิ่งติดตามตลาดจะทำให้เรารู้ทัน
(5) อย่ามีอารมณ์และโทษตลาด จะไม่เกิดประโยชน์
(6) จดบันทึกการลงทุน และเรียนรู้การเข้า, ออก Position ของตัวเอง จะทำให้เราเข้าใจจังหวะที่เราชนะหรือแพ้ ที่ขาดทุนเพราะอะไร ในการเทรดครั้งถัดไปก็ไม่ควรทำเหมือนเดิม
(7) เราไม่สามารถกำหนดทิศทางตลาดได้
สุดท้ายอยู่กับปัจจุบันในสิ่งที่เป็นจริง
 

Money Management
          ควรประเมินความเสี่ยงในการลงทุนทุกครั้ง ว่าโอกาสกำไร/ขาดทุน มีมากเท่าไร หากมองเป็น Rewardto Risk Ratio ควรจะมีค่าอย่างน้อย 2:1 หรือ 3:1 หมายถึง หากลงทุนชนะจะได้ 3 หากลงทุนแพ้จะเสีย 1 ในระยะยาวเราจะอยู่รอดได้ในตลาดการลงทุน
 

Trading Strategies
เครื่องมือที่ใช้หรือวิธีการหลักๆ ในการเทรดเบื้องต้น
(1) Trend : EMA, Parabolic SAR, ADX เพื่อดูแนวโน้มระยะยาว, ระยะกลาง และระยะสั้น
(2) Momentum : RSI, Stochastic เพื่อดูแรงเหวี่ยงของสินทรัพย์
(3) จุดซื้อ-ขาย : MACD, Super Arrow จากโปรแกรมMT4
(4) จุดตัดขาดทุน : ATR
(5) จุดทำกำไร : Fibonacci มักใช้ในการวัดเป้าหมายของราคา มักจะใช้เป้าหมายแรกที่ 161.8%
 

โปรแกรม Smart Port ตัวช่วยเทรด
จะเป็นเครื่องมือกึ่ง Semi-Auto ที่ใช้รันบนโปรแกรม MT4 เป็นการวางแผนในปัจจุบันเพื่อให้เครื่องมือจัดการคำสั่งให้เมื่อเข้าเงื่อนไขการทำกำไรหรือตัดขาดทุน จะแบ่งไม้ในการเข้ากี่ครั้ง ด้วยเงินลงทุนเท่าไร ทำได้ทั้งคำสั่งซื้อและคำสั่งขาย เสมือนระบุความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ ที่เหลือให้โปรแกรมช่วยคำนวณให้
 

          สุดท้ายนี้ขอฝากไว้ว่า เราใช้ปัจจัยพื้นฐานเพื่อดูแนวโน้มใหญ่ แล้วใช้ Technical เพื่อหาแนวรับ/แนวต้าน หาจุดเข้า/ออก และราคาเป้าหมาย การเทรดเราควรดูภาพใหญ่ก่อนด้วย Timeframe รายวัน ก่อนจะตัดสินใจด้วย Timeframe ที่เล็กลง ซึ่งการตัดขาดทุนก็เป็นแผนส่วนหนึ่งของเรา หากผิดทางไม่เป็นไปตามคาดก็ต้องตัดขาดทุนตามแผน ให้วางอัตรากำไรมากกว่าอัตราขาดทุน อย่าวางแผนเทรดที่เสียเปรียบ เลือกเทรดในช่วงตลาดมีเทรนด์ที่ชัดเจนโอกาสชนะจะมากกว่า
 

          มาเตรียมเทรดด้วยพอร์ตจำลองไปพร้อมกันกับโครงการ TFEX FX Futures Trading Challenge 2022 linkout


บทความที่เกี่ยวข้อง