TFEX
5 Min Read

สรุปประเด็นสัมมนาพิเศษรับปีกระต่าย 2566 “Jump for Futures จับเทรนด์เทรดทำกำไรใน TFEX”

by TFEX
สรุปประเด็นสัมมนาพิเศษรับปีกระต่าย 2566 “Jump for Futures จับเทรนด์เทรดทำกำไรใน TFEX”

Session ที่ 1 “จับเทรนด์เทรด หุ้น-ทองคำ-ค่าเงิน ทำกำไรด้วย TFEX”

          ประเมินแนวโน้มตลาดการลงทุนช่วงต้นปีนี้ทั้งตลาดหุ้น ทองคำ และค่าเงิน จะมีปัจจัยใดที่ต้องติดตามบ้าง สินค้าไหนที่น่าจับตามอง ฟังการวิเคราะห์ภาพตลาดจากนักวิเคราะห์ทั้ง 3 ท่านไปพร้อมกันกับ คุณกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน, คุณจรณเวท ศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการ ฝ่ายแนะนำการลงทุน บลป.คลาสสิก ออสสิริส และคุณวรุต รุ่งขำ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์ บ.วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส

 

ตลาดหุ้น

ความเห็นจากคุณกรภัทร วรเชษฐ์

          ปีนี้ยังมีประเด็นเรื่อง Recession ที่ต้องจับตา ตลาดหุ้นน่าจะผันผวนตามปัจจัยเสี่ยงบ้าง แต่นโยบายการเงินต่างๆ ของประเทศต่างๆ น่าจะเริ่มดีขึ้นจนเป็นแรงบวกให้กับตลาดได้
          ต้นปี 2023 นี้มีโมเมนตัมที่เป็นผลดีต่อตลาดทุนแรกเลย คือจีนเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาด ทำให้มีสัญญาณเกื้อหนุนกันในภูมิภาคให้ฟื้นตัวเร็วมากขึ้น ส่วนฝั่งตะวันตกภาพรวมยังไม่ดีมากนัก จากการเร่งใช้นโยบายการเงินในปีที่ผ่านมาเพื่อคุมเงินเฟ้อ ซึ่งก็ยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ โดยน่าจะอยู่ในระดับที่ถดถอยแบบไม่รุนแรง จากการประเมินของ บล.โนมูระ ทางสหรัฐฯ น่าจะเผชิญกับภาวะนี้ 4-5 ไตรมาส คาด GDP ของปี 2023 จะติดลบ -0.5% ส่วนยุโรปน่าจะเจอภาวะนี้ประมาณ 3 ไตรมาส GDP รวมติดลบ -0.4% ดีกว่าสหรัฐฯ และฝั่งเอเชียน่าจะสวนทางโตขึ้นได้ซึ่งนำโดยประเทศจีนคาด GDP โตได้ถึง 4.8 - 5.5% ด้านญี่ปุ่นและไทยเองก็ยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นได้ในปีนี้ ส่วนประเทศอื่นๆ ในเอเชียก็จะเริ่มเติบโตในปี 2024 ด้วยตัวเลขนี้กระแสเงินน่าจะไหลมาภูมิภาคเอเชียตามลำดับ ซึ่งหลังจากนี้ฝั่งตะวันตกอาจจะต้องคิดเรื่องการใช้นโยบายแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง
          ประเทศไทยเองปีนี้น่าจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 29.5 - 31 ล้านราย ซึ่งเศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวสูง ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าได้ถึงระดับ 30.5 บาท มองเทรนด์ค่าเงินบาทยังแข็งค่าได้ต่อเนื่องทั้งปี ตัวเลข GDP มีโอกาสแตะได้ถึง 4% ส่วนตลาดทุนไทยยังมีภาพเชิงบวกจนถึงเดือนเมษายน หลังจากนั้นรอดูการเมืองหลังการเลือกตั้งว่าจะมีเสถียรภาพขนาดไหน ดัชนี SET Index เป้าหมายปีนี้อยู่ที่ 1,800 จุด ส่วน SET50 Index Futures มองเป็น Sideway Up ยังให้เน้นเทรดหน้า Long ตั้งรับประมาณ 1,000 จุด เป้าหมาย 1,040 - 1,050 จุด วางจุด Stoploss ประมาณ 880 - 890 จุด และ Stock Futures ที่น่าจับตาคือ AOT, AMATA, CRC, GPSC และ SCGP

 

คำแนะนำ: ตลาดหุ้นในปีนี้ค่อนข้างน่าสนใจ ให้หาจังหวะลงทุนในหุ้นตามสัดส่วนพอร์ตประมาณ 70% หากสนใจในหุ้นต่างประเทศให้โฟกัสที่ตลาดเอเชียเป็นหลักก่อน เนื่องจากฝั่งสหรัฐฯ และยุโรปยังต้องเจอปัญหาเรื่อง Recession อีกระยะ

 

เสริมด้วยความเห็นจากคุณจรณเวท ศักดิ์ศรี และคุณวรุต รุ่งขำ           

          ตัวเลขเงินเฟ้อเริ่มดีขึ้น ปัจจัยเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะไม่มากเท่าปีที่ผ่านมา น่าจะส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นได้โดยเฉพาะฝั่งยุโรปที่ตัวเลข PMI ออกมาดีกว่าภูมิภาคอื่น มองตลาดหุ้นไทยน่าจะไปได้ต่อจากปัจจัยบวกเรื่องการท่องเที่ยวที่จะเปิดรับเม็ดเงินได้เต็มที่กว่าช่วงที่ผ่านมา

 

ทองคำ

ความเห็นจากคุณจรณเวท ศักดิ์ศรี

          ภาพรวมยังมองดีอยู่ แต่อัตราเร่งในปีนี้น่าจะลดลง Upside ไม่มาก จากเม็ดเงินที่ก่อนหน้านี้ออกจากค่าเงินดอลลาร์มาพักที่ทองคำจนราคาไต่ระดับมาเรื่อยๆ เฟดเองจากที่เคยขึ้นดอกเบี้ยแรงติดกันก็ไม่น่าจะสามารถทำต่อได้อีกแล้ว ประกอบกับกองทุน SPDR ถึงจะขายทองออกมาแต่ก็เป็นสัดส่วนที่น้อย
          เริ่มจากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่เริ่มลดลงเรื่อยๆ จากจุดสูงสุดประมาณ 9% ทำให้ FED น่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงๆ ไม่ได้แล้ว พอมาดูความเห็นของ Trader เริ่มมีความเห็นว่าการประชุมช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ของ FED น่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อทองคำ ส่วนตัวเลข PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ ที่สะท้อนการฟื้นตัวเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงออกมาลดลงต่อเนื่องเช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อ ทำให้สหรัฐฯ น่าจะยังต้องเจอกับปัญหาการถดถอยทางเศรษฐกิจต่อไป ซึ่งส่งผลลบต่อค่าเงินดอลลาร์แต่กลับกันจะเป็นปัจจัยบวกต่อทองคำ ทางฝั่งยุโรปเองตัวเลข PMI ภาคการผลิตยังคงลดลงในปีที่ผ่านมาเช่นกันแต่เริ่มเห็นการฟอร์มตัวที่ดีขึ้นมาบ้าง เป็นปัจจัยบวกต่อค่าเงินยูโรและทองคำ
          เมื่อดูกราฟของ Dollar Index ที่บอกถึงความแข็งแรงของค่าเงินดอลลาร์นั้น ยังคงลงมาเรื่อยๆ แต่มีแนวรับบริเวณ 101 จุด หากรับไม่อยู่อาจเจอแนวรับถัดไปบริเวณ 97 - 98 จุด ภาพรวมยังเป็นผลบวกต่อราคาทองคำ ส่วนค่าเงินยูโรก็ดูดีขึ้นมาก กลับตัวดีดขึ้นมาอย่างชัดเจน ยังให้น้ำหนักขี้นได้ต่อซึ่งเป็นผลบวกต่อท่องคำเช่นกัน แล้วพอมาดูการถือครองทองคำของกองทุนก็มีแนวโน้มการขายที่น้อยลงพร้อมๆ กับราคาทองคำที่สูงขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2565 ทั้งหมดจึงยังให้มุมมองทองคำเป็นขาขึ้นอยู่ โดยมีแนวต้านสำคัญที่ระดับ $2,000 หากผ่านไปได้มีสิทธิลุ้นการทำจุดสูงสุดใหม่ได้ โดยภาพใหญ่ไม่ควรหลุดแนวรับบริเวณ $1,790 ส่วนโลหะเงินหรือ Silver นั้นการวิ่งลักษณะคล้ายๆ ทองคำโดยมีแนวต้านบริเวณ $26 และ $29
 

คำแนะนำ: หาจังหวะ Long ในทองคำ แต่ให้ระมัดระวังเรื่องจำนวน Position ที่เข้า เนื่องจากราคาอยู่กรอบบนและใกล้แนวต้านพอสมควร

 

เสริมด้วยความเห็นจากคุณกรภัทร วรเชษฐ์ และคุณวรุต รุ่งขำ

          ทองคำนั้นไต่ระดับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยลบเรื่อง Recession ราคาอาจจะยังพอไปได้ต่อแต่จะไม่มากนัก เนื่องจากตลาดก็รับรู้ปัจจัยลบนี้ไปตั้งแต่ปีที่แล้วหลายเดือน กระแสเงินที่โยกเข้าสินทรัพย์ปลอดภัยจะชะลอตัว จนน่าจะแผ่วไปภายในไตรมาส 2 ของปี
          มองเป็นภาพ Sideway จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังอยู่ระดับสูง ถึงจะชะลอการขึ้นบ้าง แต่ธนาคารกลางต่างๆ ก็ยังเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ ทำให้ยังไม่เห็นภาพภาวะการลดอัตราดอกเบี้ยลง แต่ยังไงราคาทองคำก็น่าจะไปได้อีกไม่ไกลมาก อัตราดอกเบี้ยที่สูงทำให้ Bond Yeild เร่งตัวขึ้น น่าจะมีแรงเทขายทองคำกลับลงมา

 

ค่าเงิน

ความเห็นจากคุณวรุต รุ่งขำ

          ภาพรวมของ Fed ที่เริ่มชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ต่างกับธนาคารกลางอื่นๆ ที่ยังคงนโยบายไว้ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับคู่สกุลเงินหลักอย่างยูโรและเยน ก็น่าจะแข็งค่าสวนกันกับดอลลาร์ ก็ต้องเฝ้าระวังปัจจัยใหม่ๆ ข้างหน้าว่าจะมีปัจจัยอะไรที่ต้องจับตาต่อ ค่าเงินดอลลาร์อาจจะมีจังหวะดีดกลับเป็น Sideway ได้
          หากดูนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในปี 2023 จาก Summary of Economic Projections ที่ FED นั้นได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุดไว้ที่ 5.1% ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4.25 - 4.50% ซึ่งก็ต้องดูว่าจะไปถึงไหม หลังจากเริ่มส่งสัญญาณชะลอการเร่งปรับอัตราดอกเบี้ยลง โดยยังสามารถปรับขึ้นในอัตรา 0.25% ได้อีก 2-3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่ง FED เองก็มีมุมมองตัวเลข GDP ว่าน่าจะขยายตัวได้ในระดับ 0.5% ของปีนี้ ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างชะลอตัว
เมื่อดูตัวเลขประมาณการเติบโตของ GDP จาก World Bank ให้ความเห็นว่าตัวเลขการขยายตัวรวมทั่วโลกในปีนี้จะอยู่แค่ 1.7% ซึ่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมาที่ระดับ 2.9% ซึ่งสหรัฐฯ ประเทศกลุ่มยุโรป และญี่ปุ่นก็ถูกปรับลดตัวเลขประมาณการ GDP ลงเช่นกัน ต่างจากจีน และไทยที่ World Bank มองว่ายังขยายตัวได้ ก็ต้องดูกันว่าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวตามนี้หรือไม่ หากผลออกมาเป็นไปตามนี้ก็จะส่งผลลบต่อค่าเงินดอลลาร์
          Dollar Index เมื่อพิจารณาปัจจัยทางเทคนิค ยังคงเป็น Sideway Down มีการปรับฐานลงมา แนวต้านระยะสั้นอยู่ระดับ 102.16 จุด และแนวรับสำคัญที่ระดับ 101.24 จุด หากไม่หลุดมีสิทธิรีบาวน์กลับมาได้ แต่เมื่อดูภาพใหญ่นั้นแนวโน้มยังไปต่อได้โดยมีแนวรับประมาณ 98 จุด และ 92 จุด
          ค่าเงินบาท ระยะสั้นยังคงแข็งค่าได้ต่อเนื่อง มีแนวรับอยุ่ที่ 32.86 บาท และ 32.66 บาท แต่พอดูภาพระยะยาวยังคงเป็น Sideway โดยมีแนวรับอยู่ที่ 32.03 บาท และ 30.15 บาท
          ค่าเงินเยน ภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว จนคาดการณ์ว่าอาจจะยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ ทำให้ค่าเงินเยนเริ่มแข็งค่าขึ้นมา ก็ต้องดูว่าท่ามกลางแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลก ญี่ปุ่นจะยังคงใช้นโยบายดอกเบี้ยระดับต่ำได้นานแค่ไหน เมื่อพิจารณาจากกราฟระยะสั้น ยังคงแข็งค่าได้ต่อเนื่อง มีแนวต้านอยู่ที่ 129.42 เยน และ 130.46 เยน หากดีดขึ้นมาไม่ผ่านแนวต้านเหล่านี้ ค่าเงินเยนน่าจะปรับตัวลงต่อได้ ส่วนภาพระยะยาวยังเป็น Sideway Up
          ค่าเงินยูโร ระยะสั้นยังเป็นทิศทางขาขึ้นแต่จะไปได้ไม่ไกลแล้ว มีแนวต้านอยู่ที่ 1.0893 ยูโร และ 1.0943 ยูโร แนวรับอยู่ที่ 1.0771 ยูโร และ 1.0726 ยูโร ส่วนภาพระยะยาวยังเป็น Sideway Down

 

คำแนะนำ: ให้หาจังหวะ Short USD Futures จากแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าชัดเจน

 

เสริมด้วยความเห็นจากคุณกรภัทร วรเชษฐ์ และจรณเวท ศักดิ์ศรี

          ภาพ Dollar index อยู่ในช่วงภาวะการอ่อนค่า อเมริกาเองน่าจะหลีกเลี่ยงภาวะ Recession ได้ยาก จากสัญญาณเศรษฐกิจที่แย่ลง และการใช้มาตรการทางการเงินที่เริ่มมีข้อจำกัด จนน่าจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าได้ต่อ ส่วนฝั่งเอเชียและยุโรปนั้นเริ่มฟื้นตัวได้บ้าง ถึงจะเจอภาวะ Recession เหมือนกัน แต่ระยะเวลาที่เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจหดตัวนั้นจะน้อยกว่า ดูแล้วแนวโน้มค่าเงินยูโรและค่าเงินเยนจะเริ่มแข็งค่ากลับมาได้เร็วกว่าดอลลาร์
          ยังมองภาพ Dollar Index อ่อนค่าเช่นกัน ส่วนฝั่งยุโรปตัวเลขเงินเฟ้อเริ่มดีขึ้น รวมทั้งตัวเลขภาคการผลิตและบริการเองก็น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ทำให้ค่าเงินยูโรมีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ส่วนฝั่งเอเชีย อย่างญี่ปุ่นก่อนหน้านี้ตัวเลขเงินเฟ้อไม่ได้มากเท่าประเทศอื่น ทำให้ไม่ได้ใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดนัก แนวโน้มค่าเงินเยนยังมีแนวโน้มแข็งค่าได้ แต่ควรระวังไว้หน่อย เพราะเยนแข็งค่าขึ้นมาเรื่อยๆ จากก่อนหน้านี้เยอะแล้ว เช่นเดียวกับค่าเงินบาทที่น่าจะแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง

 

Session ที่ 2 “เผยแนวคิดและเทคนิคเทรด TFEX ให้กำไรและอยู่รอด”

          ผู้ลงทุนในตลาด TFEX ควรมีกลยุทธ์หรือเทคนิคการเทรดอย่างไรเพื่อให้อยู่รอดได้ตลาดการลงทุน ร่วมฟังประสบการณ์จาก Trader ที่เทรดในตลาดตัวจริงไปกับ คุณจุติ เนื่องจำนงค์ Trader อิสระ
          Full Time Trader นั้นเงินที่ใช้ในชีวิตประจำวันคือต้องหาจากการเทรด ควรเข้าใจในทุกสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อให้สามารถเทรดได้ทั้งในจังหวะขาขึ้นและขาลง ไม่รอจังหวะตลาดขาขึ้นอย่างเดียว ต้องเข้าใจเรื่องความเสี่ยง การวางเงิน เรียนรู้จากตลาดจริง ค่อยๆ เก็บประสบการณ์ ซึ่งเงินที่ได้จากการเทรดต้องมากพอในการใช้ในชีวิตประจำวัน จะเป็น Full Time Trader ที่ดีให้ได้นั้นก็จะต้องแลกมาด้วยเวลาที่ทุ่มเทให้ จนมีความพร้อมด้านความรู้ความสามารถ ฯลฯ
          จะเทรดรอบสั้นๆ หรือรอบยาวๆ ให้ดูที่ลักษณะการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์นั้น ความผันผวนสูงระดับไหน และระดับเงินลงทุนเริ่มต้น ซึ่งมือใหม่ส่วนมากมักจะเริ่มจากการเทรดระยะสั้นก่อนเพื่อทำความเข้าใจตลาด หากเริ่มสะสมเงินลงทุนได้มากขึ้นก็อาจขยับไปสเตปต่อไปสู่การเทรดฟิวเจอร์ส โดยเลือก Timeframe ให้เหมาะกับเงินลงทุนของเรา หากยังไม่คุ้นชินกับสินค้านั้น ให้ทำความเข้าใจสินค้าก่อนเริ่มลงทุน
          เรื่อง Money Management นั้นสำคัญมาก ยิ่งในตลาดที่มีการใช้ Leverage แบบตลาด TFEX แนะนำการวางหลักประกันต่อสัญญาให้มากขึ้น 2-3 เท่า ส่วนการวางจุด Stoploss ก็ให้เหมาะสมตาม Timeframe ที่เลือกเทรด โดยกำหนดเป็นจำนวนเงินหรือเป็นเปอร์เซ็นก็ได้ตาม Trade Setup ที่ได้วางแผนไว้ ซึ่งหากต้องแบ่งไม้เข้าก็ต้องคำนึงถึงช่วงที่ผิดทางรันขาดทุนไว้ด้วย กำหนดจุดทำกำไรเมื่อเทียบกับจุดตัดขาดทุนไว้อย่างไร อย่า Bet เข้าเต็มพอร์ตเพื่อวัดเพียงครั้งเดียว
 

เริ่มทำความเข้าใจในข้อมูลพื้นฐาน

          ข้อมูลพื้นฐานที่เราเห็นนั้นประกอบด้วย ราคา ปริมาณซื้อขาย เวลา และสถานะคงค้าง ซึ่ง Indicator นั้นจะขยับหลังจากเกิดชุดข้อมูลของราคาขึ้นมา เราจึงใช้ Indicator เพื่อยืนยันเทรนด์หรือความชัดเจนของรูปแบบราคา เรามักจะค้นหาแนวรับแนวต้าน เพื่อใช้เป็นจุดซื้อขายโดยพิจารณาเฉพาะราคา เริ่มต้นดูจากจุดต่ำสุดสูงสุดก่อนหน้า หรือจุดที่ราคาวิ่งไปย้ำบ่อยๆ จนถึงการใช้เครื่องมืออย่าง Fibonacci หรือ EMA ซึ่งระดับราคาใดที่มีปริมาณการซื้อขายสูงก็จะเป็นแนวรับแนวต้านที่แม่นยำมากขึ้น อาจจะไม่ใช่จุดสูงสุดต่ำสุดหรือราคาเปิดปิดของแท่งเทียนนั้นก็ได้

 

การพิจารณา Volume

Fixed Range

          เป็นการหาแนวรับแนวต้านเชิงปริมาณ โดยเลือกช่วงเวลาหนึ่งว่าปริมาณการซื้อขายในระดับราคาใดที่มีปริมาณสูง หากเป็นช่วงที่เกิดแรงเทขายสูงราคาไหลลงมา เมื่อนำข้อมูลปริมาณที่ Matching มาพิจารณาจะเห็นว่าในตลาดมีผู้ลงทุนติด Order ที่ระดับราคาใดบ้าง ช่วงระดับราคาที่หนาแน่นนั้นจะเป็นแนวต้านนั่นเอง กลับกันหากเป็นช่วงที่ราคาดีดตัวขึ้นมา ช่วงระดับราคาไหนใดที่ความหนาแน่นก็จะเป็นแนวรับ

 

Session

          เป็นการหาแนวรับแนวต้านเชิงปริมาณ โดยแสดงปริมาณตามช่วงเวลาที่ตลาดเปิดปิดทีละ 1 วัน ว่าระดับราคาใดของแต่ละวันที่มีประมาณการซื้อขายสูง ระดับราคาที่มากที่สุดของวันนั้นจะแสดงเป็นเส้นไข่ปลาให้สังเกตง่ายๆ เรียกว่า POC (Point of Control) ใช้พิจารณาว่าหากเส้น POC ไต่ระดับสูงขึ้นในแต่ละวันแสดงถึงแนวโน้มขาขึ้น แต่หากเริ่มต่ำกว่าวันก่อนหน้าคือเริ่มเป็นแนวโน้มขาลงแล้ว

 

Visible Range

          เป็นการหาแนวรับแนวต้านเชิงปริมาณ โดยแสดงปริมาณทั้งหมดที่เกิดขึ้นตามข้อมูลที่เรียกดูในขณะนั้น เราจะเห็นช่วงราคาที่เกิดขึ้นย้ำๆ ใช้พิจารณาว่าเป็นเทรนด์ขาขึ้นหรือขาลงโดยดูว่าราคาปัจจุบันนั้นอยู่เหนือหรืออยู่ต่ำกว่าเส้น POC หากราคาอยู่เหนือเส้น POC คือยังเป็นเทรนด์ขาขึ้น แต่หากอยู่ต่ำกว่าเส้น POC คือยังเป็นเทรนด์ขาลง

 

Periodic

          เป็นการหาแนวรับแนวต้านเชิงปริมาณ โดยแสดงปริมาณตามกรอบเวลาเป็นรอบที่กำหนดเช่น ทีละ 5 วัน หรือรายสัปดาห์ เพื่อใช้พิจารณาว่าในอนาคตจะเป็นเทรนด์ขาขึ้นหรือขาลง โดยดูจากเส้น POC หากยังต่ำลงจะคาดการณ์ว่าสัปดาห์ถัดไปจะยังเป็นเทรนด์ขาลงอยู่ เพื่อหาจังหวะ Short ตามแนวโน้ม จนกว่าเส้น POC จะอยู่สูงกว่าเดิม

 

          สุดท้ายให้จดจำความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้น กลับมาทบทวนว่าความผิดพลาดนี้เกิดจากสาเหตุใด แล้วหาวิธีแก้ไขไม่ให้เกิดความผิดพลาดแบบเดิม อย่าใช้อารมณ์นำในการเข้า Order โดยขาด Data ควรมี Check List เงื่อนไขในการเข้า Order แล้วปฏิบัติตามวินัยให้ได้

 

รับชม สัมมนาพิเศษรับปีกระต่าย 2566 “Jump for Futures จับเทรนด์เทรดทำกำไรใน TFEX” ย้อนหลังได้ที่ linkout
ดูรายละเอียดสินค้าใน TFEX เพิ่มเติมได้ที่นี่ linkout


แท็กที่เกี่ยวข้อง: แนวคิดเทรด TFEX
บทความที่เกี่ยวข้อง