TFEX
5 Min Read

การวิเคราะห์ทางเทคนิคเพื่อการลงทุนในตลาด TFEX

by TFEX
การวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิค คือการใช้เครื่องมือทางสถิติและแนวคิดในการอ่านพฤติกรรมตลาดผ่านกราฟราคา ซึ่งเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นในอดีตเพื่อใช้ในการพยากรณ์หรือประเมินแนวโน้มราคาประกอบการตัดสินใจลงทุนในอนาคตเช่น การดูรูปแบบกราฟ (Patterns) การดูปริมาณการซื้อขายที่เกิดขึ้นหรือการใช้เครื่องมือ Indicators ฯลฯ โดยเป้าหมายในการวิเคราะห์ทางเทคนิคที่นิยมใช้กัน จะประกอบด้วย 4 อย่างดังนี้

  1. เพื่อให้รู้แนวโน้มว่าเป็น ขาขึ้น (Uptrend) ขาลง (Downtrend) หรือไม่มีทิศทาง (Sideway)
  2. หาแนวรับ แนวต้าน หรือระดับราคาที่มักจะมีแรงซื้อแรงขายหนาแน่น
  3. หาจุดซื้อ จุดขาย ด้วยเครื่องมือที่ให้สัญญาณ Buy Sellหรือเมื่อผ่านแนวรับ แนวต้านสำคัญ
  4. หาสัญญาณการกลับตัวของราคา

กราฟราคาที่ใช้ในการวิเคราะห์ทางเทคนิคปัจจุบันที่นิยมใช้กันคือ กราฟแท่งเทียน (Candlesticks) กราฟเส้น (Line Chart) และ กราฟแท่ง (Bar Chart) ซึ่งกราฟที่นิยมมากสุดคือกราฟแท่งเทียนเนื่องจากสามารถบอกรายละเอียดข้อมูลตามช่วงเวลา (Period) ที่เลือกได้อย่างชัดเจน จากการใช้สีกำกับว่าช่วงเวลานั้นราคาสูงขึ้นเป็นตลาดกระทิง หรือราคาต่ำลงเป็นตลาดหมี โดยหากราคาปิดอยู่สูงกว่าราคาเปิดจะแสดงสีแท่งกราฟสีเขียว และหากราคาปิดอยู่ต่ำกว่าราคาเปิดจะแสดงสีแท่งกราฟเป็นสีแดง

องค์ประกอบของกราฟแท่งเทียนจะประกอบด้วย เนื้อเทียน และไส้เทียน

กรณีแท่งเทียนสีเขียว (ตลาดกระทิง - ราคาสูงขึ้น)
เนื้อเทียนด้านล่าง - แสดงถึงราคา “เปิด” (Open Price) ของแท่งเทียนนั้น
เนื้อเทียนด้านบน - แสดงถึงราคา “ปิด” (Close Price) ของแท่งเทียนนั้น
ไส้เทียนด้านล่าง - แสดงถึงจุด “ต่ำสุด” (Low Price) ของราคาในแท่งเทียนนั้น
ไส้เทียนด้านบน - แสดงถึงจุด “สูงสุด” (High Price) ของราคาในแท่งเทียนนั้น

3.2.2 Candlestick Up

กรณีแท่งเทียนสีแดง (ตลาดหมี - ราคาต่ำลง)
เนื้อเทียนด้านบน - แสดงถึงราคา “เปิด” (Open Price) ของแท่งเทียนนั้น
เนื้อเทียนด้านล่าง - แสดงถึงราคา “ปิด” (Close Price) ของแท่งเทียนนั้น
ไส้เทียนด้านล่าง - แสดงถึงจุด “ต่ำสุด” (Low Price) ของราคาในแท่งเทียนนั้น
ไส้เทียนด้านบน - แสดงถึงจุด “สูงสุด” (High Price) ของราคาในแท่งเทียนนั้น

3.2.2 Candlestick Down
3.2.2 การวิเคราะห์ทางเทคนิค - การหาแนวโน้มด้วยเครื่องมือทางเทคนิค

การหาแนวโน้มด้วยเครื่องมือทางเทคนิค
แนวโน้มมักจะเป็นสิ่งแรกที่ผู้วิเคราะห์ทางเทคนิคมองหา เพราะจะทำให้ผู้วิเคราะห์สามารถกำหนดกลยุทธ์หลักในการลงทุนได้อย่างถูกต้อง เช่น ถ้าทราบว่าปัจจุบันราคาอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น กลยุทธ์หลักในการลงทุนก็จะเน้นไปที่การซื้อ (Long) ในทางตรงกันข้ามถ้าทราบว่าปัจจุบันแนวโน้มเป็นขาลงทุนกลยุทธ์หลักก็จะเน้นไปที่ฝั่งขาย (Short) โดยหนึ่งแนวคิดสำคัญในการวิเคราะห์ทางเทคนิคคือ “ราคาจะเคลื่อนไหวไปตามแนวโน้มเดิมสักระยะหนึ่ง จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแนวโน้มใหม่” โดยมองว่าประวัติศาสตร์สามารถซ้ำรอยเดิมได้

แนวโน้มขาขึ้น (Uptrend)
องค์ประกอบสำคัญของแนวโน้มขาขึ้นคือ จุดสูงสุดจะยกสูงขึ้นเรื่อย ๆ และจุดต่ำสุดก็จะยกสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกัน (Higher High - Higher Low)

3.2.2 Uptrend

แนวโน้มขาลง (Downtrend)
องค์ประกอบสำคัญของแนวโน้มขาลงคือ จุดสูงสุดจะลดต่ำลงเรื่อย ๆ และจุดต่ำสุดก็จะลดต่ำลงเรื่อย ๆ เช่นเดียวกัน (Lower High - Lower Low)

3.2.2 Downtrend

ไม่มีแนวโน้ม(Sideway)
ในช่วงที่ราคาไม่มีแนวโน้มลักษณะราคาจะเคลื่อนไหวขนานไปกับแกนของเวลา คือขึ้น หรือลงสลับกันไปแต่อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับจุดสูงสุด และจุดต่ำสุดเดิม

3.2.2 Sideway

การประเมินแนวโน้ม (Trend) ผู้ลงทุนอาจจะต้องประเมินเรื่องกรอบเวลาประกอบไปด้วย เพราะแนวโน้มมักถูกจัดแบ่งเป็น

  1. เทรนด์ใหญ่ (Primary Trend) ซึ่งอาจจะมี “ระยะเวลาเกินกว่า 1 ปีขึ้นไป” โดยในเทรนด์ใหญ่อาจจะสลับแทรกด้วยเทรนด์ขาขึ้น ขาลงที่เป็นเทรนด์รอง หรือเทรนด์ย่อยสลับกันไป
  2. เทรนด์รอง (Secondary Trend) อาจจะมี “ระยะเวลาระหว่างสัปดาห์หรือเดือน” เช่นกันในเทรนด์รองอาจจะสลับแทรกด้วยเทรนด์ขาขึ้น ขาลงที่เป็นเทรนด์ย่อยสลับกันไป
  3. เทรนด์ย่อย (Minor Trend) อาจจะมี “ระยะเวลาระหว่าง 3 วัน หรือเป็นสัปดาห์”

 

การเลือกวิเคราะห์ทางเทคนิคโดยใช้เทรนด์จึงควรเลือกให้เหมาะสมกับลักษณะในการเทรดของแต่ละท่าน

การหาแนวรับ แนวต้าน ด้วยปัจจัยทางเทคนิค
แนวรับ แนวต้าน หรือจุดที่มักจะมีแรงซื้อหรือแรงขายจำนวนมาก ทำให้ราคาไม่สามารถผ่านระดับนั้น ๆ ไปได้ง่าย แต่ในกรณีที่ราคาทะลุผ่านไปได้ (Break) ก็มักจะมีการขึ้นหรือลงสูงกว่าระดับปกติ โดยการหาแนวรับ แนวต้านด้วยปัจจัยทางเทคนิคอาจจะทำให้หลายวิธีขึ้นอยู่กับผู้ลงทุนจะเลือกใช้

  1. แนวรับ แนวต้านเดิม จุดที่เคยเป็นแนวรับแนวต้านเดิมในอดีต โดยเฉพาะจุดที่ราคามักจะไม่ผ่านหรือต้องใช้ระยะเวลาในการทดสอบแนวรับ หรือแนวต้านเป็นเวลานาน มักจะกลายเป็นแนวรับ แนวต้านในอนาคต
  2. เส้น Trend Line โดยเส้น Trend Line ที่จะเป็นแนวรับหรือแนวต้านที่สำคัญนั้นจะเกิดขึ้นจากการพิจารณาว่าราคาจะมีการเปลี่ยนเทรนด์หรือไม่ สำหรับขาขึ้น เส้นแนวรับสำคัญคือเส้นที่ลากจากจุดต่ำสุดจุดที่ 1 ไปสู่จุดต่ำสุดที่ 2 ที่ราคาสูงกว่า ส่วนเทรนด์ขาลงเน้นแนวต้านสำคัญที่ลากจากจุดสูงสุดที่ 1 ไปสู่จุดสูงสุดที่ 2 ที่ราคาต่ำกว่า
  3. เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ Moving Average ที่คำนวณจากราคาเฉลี่ยย้อนหลังตามเวลาที่เรากำหนด รูปแบบที่นิยมคือเส้น EMA (Exponential Moving Average) ที่ให้ความสำคัญกับราคาช่วงใกล้ที่สุดซึ่งหลายครั้งที่เราเห็นผู้วิเคราะห์ใช้เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ Moving Average มาใช้เป็นแนวรับหรือแนวต้าน การใช้เส้นค่าเฉลี่ยย้อนหลังอาจจะพออนุมานถึงต้นทุนเฉลี่ยของผู้ซื้อในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เช่น การใช้เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average) 100 วัน อาจจะหมายถึงค่าเฉลี่ยต้นทุนการซื้อสะสมในช่วง 100 วันที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีการใช้เส้นค่าเฉลี่ยนักลงทุนอาจจะต้องทำ Back Test เพื่อทดสอบความแม่นยำของเครื่องมือ
  4. การหาแนวรับแนวต้านจากเครื่องมือที่วัดการย่อตัวของราคา เช่น การวัดการย่อตัวจาก Fibonacci Ration

 

การหาจุดซื้อ จุดขาย ด้วยปัจจัยทางเทคนิค
สำหรับการหาจุดซื้อขาย มีหลากหลายเครื่องมือทางเทคนิคที่สามารถนำมาใช้หาจุดซื้อ จุดขาย ทั้งที่เป็นการอ่านสัญญาณตรง ๆ ด้วยเครื่องมือที่ให้ Buy Sell Signal เช่น MACD, Moving Average, Stochastic ฯลฯ หรือการอ่านสัญญาณการเปลี่ยนแนวโน้ม จากราคาที่พุ่งผ่านแนวต้านหรือราคาร่วงหลุดแนวรับ ขึ้นอยู่กับผู้ลงทุนเลือกใช้

  1. ใช้สัญญาณ Buy Sell Signal จากเครื่องมือทางเทคนิค เช่น การเกิด Golden Cross หรือ Dead Cross ของ Moving Average การใช้ MACD หาสัญญาณซื้อขายโดยการใช้การตัดระหว่างกันของเส้น Signal Line กับเส้นMACD หรือการใช้เส้น MACD ตัดกับเส้นศูนย์ เป็นต้น
  2. ใช้การเปลี่ยนแนวโน้มเป็นจุดซื้อจุดขาย เช่น การตัดผ่านเส้นเทรนด์หลักที่สำคัญแล้วหลุดแนวรับ หรือผ่านแนวต้าน โดยใช้การดูปริมาณการซื้อขาย (Volume) ประกอบ
  3. การใช้ Gap ประกอบการตัดสินใจซื้อขาย เช่น การเกิด Breakaway Gap หรือ Runaway Gap

 

การหาสัญญาณการกลับตัวด้วยปัจจัยทางเทคนิค
โดยทั่วไปราคาสินทรัพย์มักจะเคลื่อนไหวขึ้นลงลักษณะแบบลูกคลื่น หรือมีการขึ้นลงสลับกัน ดังนั้นหนึ่งสัญญาณสำคัญที่มีผลต่อกลยุทธ์การซื้อขายคือ “การหาสัญญาณการกลับตัวของราคา” ซึ่งมีเครื่องมือทางเทคนิคที่ใช้ในการหาสัญญาณการกลับตัวอยู่หลากหลายเช่นกัน ทั้งที่สื่อตรง ๆ อย่างการเกิด Bullish Divergence - Bearish Divergence ที่แรงซื้อแรงขายยังรุนแรงแต่เริ่มขัดแย้งกับเครื่องมือทางเทคนิคที่แผ่วลง, การเกิด Reversal Patterns ที่ดูการฟอร์มตัวของกราฟแท่งเทียน โดยใช้แรงซื้อแรงขายประกอบเพื่อดูจุดกลับตัว รวมถึงสัญญาณเตือนให้ระมัดระวังต่าง ๆ เช่น การเกิดสัญญาณ Overbought หรือ Oversold ที่บ่งบอกถืงแรงซื้อแรงขายที่มากเกินปกติ เป็นต้น ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกใช้ได้ตามเหมาะสม

  1. การดูสัญญาณ Divergence ผ่าน Indicator เช่นการใช้เครื่องมือ MACD, RSI ประกอบ เกิดได้ 2 กรณี
    • Bullish Divergence คือราคาร่วงลงจนทำจุดต่ำสุดใหม่ แต่ RSI ไม่ได้ทำจุดต่ำสุดใหม่ขัดแย้งกับราคา บอกถึงแรงขายที่ไม่มากเท่าเดิม อาจเป็นจุดกลับตัวของขาลงจนเป็นขาขึ้นได้
    • Bearish Divergence คือราคาขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่โดย แต่ RSI ไม่ได้ทำจุดสูงสุดใหม่ขัดแย้งกับราคา บอกถึงแรงซื้อที่ไม่มากเท่าเดิม อาจเป็นจุดกลับตัวของขาขึ้นจนเป็นขาลงได้
  2. การดู Reversal Patterns เช่น Head and Shoulders, Double Top/Bottom, Triple Top/Bottom หรือจะใช้การอ่านกราฟแท่งเทียนในการหา Reversal Patterns ซึ่งก็มีหลายรูปแบบ เช่น รูปแบบ Hammer, Hanging Man, Engulfing, Harami, Morning Star, Evening Star ฯลฯ
3.2.2 Hammer, Hanging Man
3.2.2 Engulfing
3.2.2 Harami
3.2.2 Morning Star, Evening Star
3. การดูสัญญาณภาวะซื้อมากเกินปกติ Overbought หรือภาวะขายมากเกินปกติ Oversold เช่นการใช้เครื่องมือ RSI ที่จับสัญญาณเมื่อขึ้นสูงถึงระดับ 70% หรือลงสู่ระดับ 30% และเครื่องมือ Stochastic โดยอ่านค่า Overbought ที่ระดับ 80% และ Oversold ที่ระดับ 20% เป็นต้น

เครื่องมือการวิเคราะห์ทางเทคนิคปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถใช้ประกอบการตัดสินใจ หาจังหวะลงทุนระยะสั้นสามารถปรับแต่งและมีความยืดหยุ่นในการใช้เครื่องมือสูง จึงเหมาะที่ผู้ลงทุนจะศึกษาไว้เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง