TFEX
5 Min Read

Mindset & Money Management เทรด Options

by TFEX

การลงทุนในออปชัน ก็เหมือนการลงทุนอื่นๆ ทั้งการทำธุรกิจ การซื้อขายหุ้น รวมถึงการเทรดฟิวเจอร์ส ไม่มีใครรู้อนาคตที่แน่นอน เราจึงควรวางแผนการลงทุนในแต่ละสถานการณ์ให้ชัดเจน เข้าใจเครื่องมือที่จะใช้ เพื่อสร้างโอกาสในการรับรู้กำไร พร้อมทั้งควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และไม่ให้เราใช้อารมณ์มากจนเกินไปในการตัดสินใจซื้อขายแต่ละครั้ง

ออปชันมีทั้ง Long Call, Short Call, Long Put, Short Put จึงเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนเป็นได้ทั้งฝั่งผู้ซื้อสิทธิและผู้ขายสิทธิ ราคาของออปชันจะถูกแพงขึ้นอยู่กับโอกาส ของระดับราคาสินค้าอ้างอิง ยิ่งโอกาสในการชนะ (ถูกทาง) มีมากย่อมต้องจ่ายต้นทุนที่แพง และค่าออปชันที่ถูก จะเป็นระดับราคาของสินค้าอ้างอิงที่ไกลจากราคาปัจจุบัน ผู้ลงทุนมองว่าโอกาสจะกำไรน้อย แต่ไม่ได้หมายความว่าซื้อออปชันถูกจะไม่มีโอกาสได้กำไร บางคนอาจใช้ออปชันเป็นเครื่องมือเสี่ยงโชค (ซื้อสิทธิราคาถูกๆ ลุ้นให้เกิด Jackpot) ในขณะที่บางคนใช้ขายสิทธิที่มีโอกาสชนะน้อย เป็นการเก็บเงินสะสมก้อนเล็กๆ แลกกับความเสี่ยงที่น้อยนั่นเอง

แนวคิดการเก็งกำไรทิศทาง

หากเรามีมุมมองว่าตลาดหุ้นหรือดัชนี SET50 กำลังมีทิศทางชัดเจน สิ่งที่อยากได้คือ เครื่องมือที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นโดยตรง พร้อมทั้งจำกัดการขาดทุนในกรณีที่ไม่เป็นไปตามคาด เครื่องมือที่นิยมใช้ในตลาดทุน คือ การ Long Options ที่สามารถทำได้ทั้ง Long Call และ Long Put

Long Call ให้ผลตอบแทนเมื่อตลาดหุ้นขึ้น ในขณะที่ Long Put ให้ผลตอบแทนเมื่อตลาดหุ้นเป็นขาลง และจำกัดการขาดทุนเท่ากับค่าพรีเมี่ยมหรือราคาสิทธิที่ซื้อมา นับว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ นักลงทุนมักจะเปิดสถานะเมื่อเห็นแนวโน้มชัดเจนและมักเลือกระดับราคาใช้สิทธิที่มีโอกาสชนะหรือเป็นไปได้จริง ทั้งนี้ต้นทุนก็จะแปรผันตามโอกาสชนะ หากมีโอกาสชนะมาก ต้นทุนค่าพรีเมี่ยมจะสูงตามไปด้วย กลับกันหากมีโอกาสชนะน้อย ต้นทุนค่าพรีเมี่ยมจะน้อยตามไปด้วย เมื่อราคาสินค้าอ้างอิงเคลื่อนไปตามที่คาดหวังแล้วก็ควรขายปิดสถานะเพื่อรับรู้กำไร เพราะไม่มีทางที่ราคาสินค้าจะวิ่งในทิศทางเดียวตลอดไปและออปชันที่ซื้อไว้ก็มีวันหมดอายุ ดังนั้นเราจึงอาจกล่าวได้ว่าไม่มีความจำเป็นต้องถือจนถึงวันหมดอายุหากมีกำไรเป็นไปที่วางแผนแล้วก็ควรรับรู้กำไรนั้นด้วย นอกจากนี้หากสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ ก็สามารถขายปิดสถานะ เพื่อนำเงินไปเริ่มลงทุนใหม่ดีกว่าปล่อยให้หมดอายุไป

แนวคิดการป้องกันความเสี่ยงพอร์ต

หากมองว่าพอร์ตการลงทุนเรามีโอกาสปรับตัวลดลง และต้องการหาเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงหรือชดเชยความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นหากตลาดหุ้นปรับตัวลงจริง โดยยอมรับได้หากเราจะจ่ายค่าเบี้ยประกันส่วนหนึ่ง เสมือนเป็นการทำประกันพอร์ตให้ครอบคลุมช่วงเวลาที่เราต้องการ

การ Long Put เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ให้ผลตอบแทนเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวลง พร้อมจำกัดต้นทุนหรือความเสียหายไว้เท่ากับค่าเบี้ยประกันในกรณีที่ไม่ได้ใช้สิทธิ นับว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ การซื้อ Long Put จึงเหมือนการซื้อประกันขาลง ที่เราเลือกระดับความเสี่ยง และต้นทุนที่สนใจได้ หากประกันที่ให้ค่าชดเชยสูงมักมีค่าพรีเมี่ยมแพง ออปชันก็เหมือนกัน ระดับราคาใช้สิทธิเปรียบเสมือนจุดที่จะเริ่มเคลมประกัน และวันหมดอายุก็คือระยะเวลาคุ้มครอง ดังนั้น เมื่อซื้อประกันแล้ว หากราคาสินค้าอ้างอิงตกจริงจนถึงระดับราคาที่พอใจก็สามารถปิดสถานะรับเงินชดเชยได้โดยไม่ต้องรอหมดอายุ หรือจะถือต่อรอจนสถานการณ์คลี่คลายแล้วค่อยเคลมประกันก็สามารถทำได้ นอกจากการซื้อประกันเพื่อป้องกันความเสี่ยงแล้วผู้ลงทุนบางท่านยังใช้เป็นเครื่องมือในการเก็งกำไรทิศทางขาลงได้อีกด้วย

แนวคิดการสร้างผลตอบแทนจากความผันผวน

หากเรากำลังมองว่าตลาดหุ้นที่เทรดมีแนวโน้มจะเคลื่อนไหวไม่ขึ้นแรงก็ลงแรง จากสถานการณ์ที่กำลังจะเข้ามากระทบ เช่น ช่วงรอผลการเลือกตั้ง การตัดสินของศาล หรือการเปลี่ยนแปลงนโยบาย เมื่อสถานการณ์มีโอกาสออกได้ 2 ทิศทาง การถือหุ้นเก็งขาขึ้นอย่างเดียวอาจมีความเสี่ยงผิดทาง ในขณะที่การขายก่อนแล้วค่อยกลับมาซื้อในราคาที่ต่ำกว่า (Short Against Port) อาจต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มเติม การเลือกใช้ออปชันที่จำกัดความเสี่ยงถ้าผิดทาง โดยใช้เงินลงทุนไม่มาก และให้ผลตอบแทนสูงกรณีถูกทางนับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

ในกรณีที่คาดว่าตลาดหุ้นจะเคลื่อนไหวขึ้นลงรุนแรง เช่น จากขึ้นเป็นลง หรืออาจแกว่งตัวออกจากกรอบเดิมมาก จากการที่ไม่รู้ผลลัพธ์ที่แน่นอนทำให้การคาดการณ์ทิศทางเป็นไปได้ยาก การซื้อทั้ง Long Call และ Long Put เหมือนกับการเก็งทั้ง 2 ทิศทาง การซื้อแบบนี้เป็นการจ่ายเบี้ยประกัน 2 ข้าง ซึ่งจะมีข้างหนึ่งเท่านั้นที่จะชนะ ตัวอย่างเช่น หากดัชนีขึ้นแรงจริงฝั่ง Long Call จะปรับตัวสูงขึ้น มากกว่าฝั่ง Long Put ที่ราคาจะลดลง การเทรดชุดนี้คือการเก็งกำไรเรื่องความผันผวน ต้องสูงถึงจะคุ้มเสี่ยง เพราะหากตลาดหุ้นไม่ขึ้นแรง หรือไม่เปลี่ยนแปลง เราอาจขาดทุนทั้ง 2 ขาก็เป็นได้ ในทางกลับกันผู้ที่ทำสถานะตรงกันข้าม (Short Call, Short Put) หรือผู้ที่ขายความผันผวน กำลังเก็งว่าความผันผวนจะลดลง หรือความผันผวนไม่มากไปกว่าเดิม และคาดว่าราคาออปชันจะลดลงตามกาลเวลา ยิ่งใกล้หมดอายุ ความผันผวนยิ่งลดลง ทำให้ผู้ซื้อสิทธิไม่สามารถใช้สิทธิ ผู้ขายก็จะได้กำไร ทั้งนี้กำไรที่ได้มาจะจำกัดแค่ค่าพรีเมี่ยม แต่แลกมาด้วยความรับผิดชอบหากตลาดหุ้นปรับตัวสูงกว่าระดับราคาที่ขายสิทธิ ผู้ขายจะต้องยอมชำระค่าส่วนต่างที่เกิดขึ้นทั้งจำนวน ทั้งนี้กำไรที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะกรณีไหนก็สามารถรับรู้กำไรหรือตัดขาดทุนได้ตลอดเวลาไม่ต้องรอออปชันหมดอายุ ดังนั้น ฝั่งซื้อความผันผวนจึงมักซื้อเมื่อใกล้จะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น และขายเมื่อสถานการณ์จบ ในขณะที่ฝั่งขายความผันผวนมักชอบตลาดไซด์เวย์ และปิดสถานะเมื่อรู้สึกว่ากำไรเพียงพอ หรือลดความเสี่ยงลงหากใกล้เหตุการณ์สำคัญ

แนวคิดการบริหารเงินลงทุน

  1. Position Sizing

กำหนดเม็ดเงินลงทุน แม้ว่าฝั่งซื้อออปชันจะจำกัดการขาดทุน เพื่อลุ้นผลตอบแทนแบบไม่จำกัดโดยสามารถเลือกระดับราคาใช้สิทธิได้ ยิ่งสิทธิมีโอกาสชนะมากออปชันจะมีราคาสูงตามไปด้วย กลับกันยิ่งสิทธิที่มีโอกาสชนะน้อยออปชันจะมีราคาถูกลง แต่ถ้าลงทุนแล้วผิดทางสิทธิที่ซื้อไว้ไม่ได้ใช้ ก็เท่ากับขาดทุนทั้งจำนวน ดังนั้นการลงทุนควรต้องกำหนดวงเงินที่ต้องการลงทุนให้ชัดเจน แบ่งสัดส่วนหรือแบ่งไม้ชัดเจนว่าจะลงทุนครั้งละเท่าไหร่ รวมทั้งควรพิจารณาเลือกจากโอกาสชนะมากกว่าราคาที่ถูก ในขณะที่ฝั่งขายออปชัน ผู้ขายจะมีภาระผูกพันต้องกันเงินสำหรับกรณีถูกใช้สิทธิ ดังนั้นจึงต้องมีการวางเงินประกันบางส่วน (Margin) ซึ่งหากคิดจากมูลค่าที่แท้จริง ผู้ขายควรวางเงินมากกว่าระดับประกันขั้นต้น โดยอาจวางใกล้มูลค่าที่แท้จริงเพื่อลดอัตราทดไม่ให้มากเกินไป

  1. Risk Control

กำหนดระดับเม็ดเงินลงทุนและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เราทราบดีอยู่แล้วว่าไม่ควรใส่ไข่ในตระกร้าใบเดียวกัน ไม่ควรเสี่ยงใช้เงินทั้งหมดไปกับการลงทุนครั้งเดียว (No All in) และไม่ควรเปิดสถานะที่ใหญ่กว่าเงินลงทุน (No Overtrade) ออปชันเป็นเรื่องการซื้อสิทธิ หากเราซื้อสิทธิมาเยอะแยะแล้วไม่ได้ใช้สิทธิเลย เท่ากับว่าเราสูญเงินต้นไปทั้งจำนวน เช่นกันในกรณีผู้ขายสิทธิ หากราคามีแนวโน้มปรับเพิ่มจนทำให้เราขาดทุน แม้ว่าเราจะคิดดีแล้วว่ามีโอกาสทำกำไรได้ แต่หากสถานการณ์ไม่เป็นใจก็ต้องยอมรับขาดทุน เพื่อป้องกันไม่ให้ขาดทุนมากเกินกว่าที่วางแผนไว้ ดังนั้น ผู้ลงทุนในออปชันก็ควรต้องตั้ง Stop Loss ในทุกการลงทุนด้วยเช่นกัน

  1. Risk Reward Ratio

กำหนดจุดเข้าออกพิจารณาความคุ้มค่า เป็นไปได้ยากที่เราจะซื้อได้ที่จุดต่ำสุดและขายได้ที่จุดสูงสุด เราจึงควรต้องพิจารณาวางแผนในทุกไม้การลงทุน การพิจารณาจุดเข้า (Entry Point) เทียบกับจุดตัดขาดทุน (Stop Loss) ทำให้เราเห็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ในขณะที่จุดเข้า (Entry Point) เทียบกับจุดทำกำไร (Exit Point) จะทำให้เราเห็นโอกาส ซึ่งเราควรพิจารณาระดับ Risk to Reward เลือกสถานการณ์ที่ดูคุ้มค่า เลือกอายุของสัญญาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น หากเป็นการเก็งกำไรระยะสั้นๆ นอกจากมองความคุ้มค่าแล้วต้องเลือกสัญญาที่มีสภาพคล่องด้วย เพื่อให้เมื่อถึงเวลาขายจะสามารถขายได้ราคาตามเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังอาจเลือกระดับราคาเปิดสถานะฝั่งซื้อที่ไม่แพงเกินไป (พิจารณาจาก Implied Volatility) และรู้จักทำกำไรเมื่อระดับราคาถึงเป้าหมาย


แท็กที่เกี่ยวข้อง: แนวคิดและการวางแผนเทรด Options
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง