เปิดหลังหยุดยาวสงกรานต์ทำเอาใจหายอีกแล้ว กับความกังวลวิกฤติตะวันออกกลางหลังการเอาคืนของอิหร่าน ทำทั่วโลกวิตกว่าอาจจะเป็นเส้นทางนำไปสู่การสู้รบที่รุนแรงขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อตลาดการลงทุนและราคาพลังงาน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม และนี่อาจจะเป็นเพียงการเริ่มต้น ถ้าสถานการณ์นี้เป็นหนังเรื่องยาวแบบรัสเซีย - ยูเครน ความผันผวนอาจจะอยู่กับเราไปอีกสักระยะ การเตรียมความพร้อมรับความเสี่ยงจากความผันผวนของสินทรัพย์อาจจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่เพื่อน ๆ ต้องเริ่มสนใจ
“อิสราเอล - อิหร่าน สร้างความเสี่ยงอย่างไร??”
ประการแรกไม่ว่าจะเป็นการสู้รบกันระหว่างชาติใดก็มักจะมีความเสี่ยงกระทบต่อตลาดการเงินการลงทุน เนื่องจากความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ทั้งที่ผ่านการค้าขายระหว่างประเทศ การลงทุน การผลิตวัตถุดิบสำคัญ รวมถึงระบบค่าเงิน เมื่อเกิดความไม่แน่นอนจากภัยสงครามก็มักจะทำให้เศรษฐกิจและตลาดการลงทุนผันผวนจนกระทบต่อประเทศหรือภูมิภาคอื่น มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับขนาดเศรษฐกิจและความสำคัญต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์สู้รบระหว่างรัสเซีย - ยูเครน ที่กระทบทั้งราคาพลังงาน โดยชาติตะวันตกเองก็พยายามลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียลง และราคาสินค้าเกษตรจากผลกระทบด้านการส่งออกสินค้าเกษตรของยูเครน ส่วนเหตุที่เกิดขึ้นระหว่าง อิสราเอล – อิหร่าน นั้นอยู่ใกล้พื้นที่สำคัญในการขนส่งและผลิตน้ำมัน ประกอบกับเป็นชาติมหาอำนาจทางทหารทั้งคู่ทำให้ความเสี่ยงและผลกระทบหากเกิดการสู้รบแบบเปิดหน้าระหว่างกันจริง ๆ น่าจะมีผลไม่น้อยกว่ากรณีรัสเซีย – ยูเครน นอกจากนี้ทั้งสองประเทศยังมีพันธมิตรที่สนับสนุนเช่น สหรัฐฯ อังกฤษ และชาติตะวันตกสนับสนุนอิสราเอล ส่วนอิหร่านก็มีสัมพันธ์อันดีกับรัสเซียและจีน แรงสนับสนุนทั้งสองฝั่งจากชาติพันธมิตรก็น่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศพันธมิตรและความร้าวลึกในความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งด้วยเช่นกัน
ประการที่สอง จากศักยภาพทางการเมืองและการทหารของสองชาติ นี่อาจจะเป็นความเสี่ยงทางการเมืองโลกมากที่สุดเหตุหนึ่งหลังจากสิ้นสุดสงครามเย็น และมีความเสี่ยงที่จะเกิดการขยายวงของสงครามออกไป ปัจจัยนี้จะส่งผลต่อทัศนคติ (Sentiment) ของนักลงทุนในตลาด ซึ่งจะตามมาด้วยความอ่อนไหวที่มากขึ้นในแรงซื้อแรงขาย เมื่อเกิดกระแสข่าวลบหรือบวกต่อสถานการณ์ ทำให้ตลาดการลงทุนมีแนวโน้มที่จะผันผวนขึ้น
เพื่อน ๆ ควรระมัดระวังในการลงทุน หรือหาแนวทางในการจัดการกับความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็น ลดทอน ป้องกัน ถ่ายโอน หรือหลีกเลี่ยง หนึ่งในเครื่องมือป้องกันหรือลดทอนความเสี่ยงในช่วงตลาดหุ้นผันผวน หรือตลาดขาลงคือเครื่องมืออนุพันธ์ อย่าง Futures และ Options ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีเครื่องมือเหล่านี้ไว้ให้เลือกใช้ผ่านตลาด TFEX ซึ่งสามารถซื้อขายได้ผ่านโบรกเกอร์แบบเดียวกับการซื้อขายหุ้น ส่วนเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยก็น่าจะเหมาะกับ SET50 Futures ด้วยการอ้างอิงกับดัชนีตลาดหุ้นไทย ซึ่งสามารถใช้เป็นตัวแทนในการป้องกันความเสี่ยงจากตลาดหุ้นไทยได้เป็นอย่างดี
รู้จัก SET50 Futures ให้มากขึ้น
https://www.tfex.co.th/th/education/knowledge/article/6-set50-index-futures