TFEX
5 Min Read

ศัพท์น่ารู้คู่ TFEX Part 3

by TFEX
ศัพท์น่ารู้คู่ TFEX Part 3

          จำกันได้หรือเปล่าว่าเราเคยนำเสนอคำศัพท์ Part 2 ไปแล้ว และเพื่อให้ทุกคนเกิดความเข้าใจกันอย่างต่อเนื่องเราจึงได้นำคำศัพท์ Part 3 มาเสิร์ฟให้ทุกคน หากพร้อมแล้วเราไปดูกันเลย

21. Backtest
          แปลตรงตัวก็คือ การทดสอบกับข้อมูลในอดีต ซึ่งหากมองในมุมการลงทุน คือ การนำเอากลยุทธ์ที่เราสนใจมาทดสอบกับข้อมูลจริงในอดีตว่ามีอัตราการกำไร/ขาดทุน เป็นอย่างไรบ้าง ยิ่งถ้าทดสอบกับข้อมูลในอดีตที่มีทั้งช่วงขาขึ้นขาลง ไซต์เวย์ ผันผวนสูง หรือผันผวนต่ำ เรียกได้ว่ายิ่งมากก็จะยิ่งดี เพราะจะทำให้เราเห็นภาพว่ากลยุทธ์นี้เหมาะใช้กับสถานการณ์แบบไหนแล้วอัตรากำไร/ขาดทุนจะอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่
          ดังนั้น หากเป็นการเทรดตามใจ หรือเทรดตาม Line อันนี้ก็จะไม่รู้ว่าต้องเอากลยุทธ์แบบไหนไปทดสอบ ซึ่งจริงๆแล้ว การคิดที่เป็นระบบ มีกลยุทธ์มีจุดเข้าออกชัดเจน หรือจะใช้ Indicator ก็ตามใจ โดยทำให้เราจะได้เห็นจุดแข็งจุดอ่อนของกลยุทธ์ แล้วจะสามารถนำไปพัฒนาต่อให้เป็น Robot Trade ได้ง่าย

22. Forward Test
          เรารู้ Backtest กันไปแล้ว ถัดมาเป็น Forward Test กันบ้างดีกว่า โดย Forward Test ก็คือการทดสอบกลยุทธ์การเทรดของตนเองกับสถานการณ์จริงในปัจจุบัน เมื่อเราได้กลยุทธ์ที่สามารถทำกำไรให้เราเป็นที่น่าพอใจจากการทดสอบ Backtest ไปแล้ว
          คราวนี้ก็ต้องมาลองกับสถานการณ์จริงบ้างว่าจะสามารถทำกำไรได้ตามสถิติหรือไม่ ถ้าหากผลออกมาแย่ หรือขาดทุนต่อเนื่องมากกว่าสถิติจะแสดงว่ากลยุทธ์ที่เราวางแผนว่าจะเอามาใช้อาจทำให้เกิดการขาดทุนมากกว่ากำไร
          อาจเป็นเพราะมีการปรับแต่งกลยุทธ์ให้เหมาะกับอดีตมากเกินไป หรือกลยุทธ์และ Indicator ที่ใช้ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันอีกแล้ว ในขณะที่หากผลออกมาดี มีกำไรก็จะเป็นการเพิ่มความมั่นใจว่าเมื่อเอาไปใช้จริงน่าจะมีกำไรได้
          ซึ่งการทำ Forward test ทำได้ทั้งการจดราคาใส่กระดาษ (Paper Trade) หรือจะใช้โปรแกรมช่วยเทรดก็สามารถทำได้เหมือนกันที่สำคัญ คือการมีวินัยและจดสถิติเอามาปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น

23. Golden Cross
          ชื่อเรียกสัญญาณทางเทคนิคที่บอกว่าราคากำลังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยนักลงทุนหลายท่านใช้เส้นค่าเฉลี่ย (Moving Average) ในการบอกทิศทางแนวโน้มราคา โดย Golden Cross เกิดจากกรณีราคาเส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเหนือเส้นค่าเฉลี่ยระยะยาว แปลว่าแนวโน้มราคาระยะสั้นกำลังปรับตัวขึ้นแรง ซึ่งแรงจนแซงราคาเฉลี่ยในอดีต
          นักลงทุนจึงมองได้ว่าราคากำลังเป็นแนวโน้มขาขึ้น ข้อดี คือ มองเห็นเทรนด์ง่าย เข้าใจง่าย หากตลาดเป็นแนวโน้มขาขึ้นจริง การเปิดสถานะ Long แล้วถือยาวจะสร้างกำไรได้มาก ในขณะที่ข้อจำกัดคือ หากตลาดเป็นแนวโน้มไซต์เวย์ หรือขึ้นๆลงๆ สัญญาณอาจตัดขึ้นแล้วก็ตัดลงได้ในระยะเวลาไม่นาน แบบนี้ตลาดไม่มีแนวโน้ม การเปิดสถานะอาจไม่ได้กำไรอย่างที่คาดหวัง (หมายเหตุ การใช้เส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้นมากๆ และใช้ Timeframe สั้นมากๆ อาจเกิด (False Signal) สัญญาณหลอกได้ง่าย)

24. Dead Cross
          สัญญาณแห่งความตาย หรือชื่อเรียกสัญญาณทางเทคนิคที่กำลังบอกว่า ราคากำลังมีทิศทางแนวโน้มเป็นขาลง ซึ่งลักษณะของเหตุการณ์จะตรงข้ามกับ Golden Cross คือ เส้นราคาเฉลี่ยระยะสั้นปรับตัวลดลงแรงจนต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยระยะยาว
          ข้อดี คือมองเห็นแนวโน้มขาลงได้ง่าย โดยหากตลาดเป็นแนวโน้มขาลงจริง การเปิดสถานะ Short จะสร้างโอกาสทำกำไรได้มาก ในขณะที่ข้อจำกัดก็จะเหมือนกัน คือกรณีตลาดไม่มีแนวโน้ม หรือไซต์เวย์อาจเป็นสัญญาณหลอกได้ (หมายเหตุ นักลงทุนอาจใช้การดูปริมาณการซื้อขาย ดูลักษณะแท่งเทียน (Price Pattern) รวมทั้งดูข้อมูลสถิติในอดีตประกอบ ก่อนการตัดสินใจลงทุน)

25. Basis
          หมายถึงส่วนต่างระหว่างราคาฟิวเจอร์ส (Futures) กับราคาสินค้าอ้างอิง (Spot) ซึ่งราคาฟิวเจอร์สผันผวนตลอดเวลา มีได้ทั้งสูงกว่าในบางช่วงแล้วก็ต่ำกว่าในบางช่วงเวลา แต่ในวันสุดท้าย ราคาฟิวเจอร์สจะวิ่งเข้าหา Spot เสมอ เพราะในสัญญาฟิวเจอร์สระบุไว้ว่า ณ วันหมดอายุจะใช้ราคาสินค้าอ้างอิงในการกำหนดราคาปิดอย่างเป็นทางการ
          ดังนั้น เราสามารถบอกได้ว่าเมื่อราคา Futures > Spot จะมีค่า Basis > 0 (เป็นบวก) กลับกันถ้า Futures < Spot จะมีค่า Basis < 0 (เป็นลบ) และในวันสุดท้าย Basis = 0 ซึ่งราคาฟิวเจอร์สปกติจะเทรดบนราคาที่ไม่เท่ากับ Spot โดยราคามักมีส่วนต่างเป็นไปตามทฤษฎี แต่ถ้าต่ำกว่าทฤษฎีมากๆ หรือสูงกว่ามากๆ เรามักจะหาโอกาสในการทำกำไรได้

26. Backwardation
          คือช่วงที่ราคา Futures < Spot หรือค่า Basis < 0 (เป็นลบ) ซึ่งเป็นสภาวะปกติของฟิวเจอร์สที่อ้างอิงดัชนีหรือหุ้น เช่น SET50 Futures < SET50 Index หรือ PTT Futures < PTT เพราะการถือหุ้นอ้างอิง (Spot) ผู้ถือมีสิทธิในการได้รับผลตอบแทน เช่น เงินปันผล หรือสิทธิอื่นๆ ในขณะที่ผู้ถือสัญญาฟิวเจอร์สจะไม่ได้รับสิทธิใดๆ ดังนั้นราคาฟิวเจอร์สจึงต่ำกว่าราคาสินค้าอ้างอิง โดยจะน้อยกว่าเท่ากับอัตราเงินปันผลที่ผู้ซื้อไม่ได้รับสิทธิ และราคาฟิวเจอร์สกับสินค้าอ้างอิงจะห่างลดลงเรื่อยๆ เมื่อหุ้นมีการจ่ายปันผลไปเรียบร้อยแล้ว

27. Contango
          คือช่วงที่ราคา Futures > Spot หรือค่า Basis > 0 (เป็นบวก) ซึ่งเป็นสภาวะปกติของฟิวเจอร์สที่อ้างอิงโลหะมีค่าหรือสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น Gold Online Futures > Gold Spot เพราะผู้ถือสินค้าอ้างอิงไม่ได้มีเงินปันผล แถมยังต้องมีการเก็บรักษาของเพื่อรอส่งมอบด้วย ทำให้มีต้นทุนมากกว่าผู้ถือเงินสดเพื่อเปิดสถานะซื้อสัญญาฟิวเจอร์ส

28. Pair Trading
          เป็นการซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์สที่มีสินค้าอ้างอิงต่างกันและมีวันหมดอายุในเดือนเดียวกัน
          เป็นกลยุทธ์ที่ใช้เก็งกำไรส่วนต่างราคาของหุ้นอ้างอิง 2 ตัวที่มีการเคลื่อนไหวสัมพันธ์กัน เช่น หุ้นกลุ่มธนาคารด้วยกัน หุ้นกลุ่มสื่อสารด้วยกัน หุ้นกลุ่มพลังงานด้วยกัน เป็นต้น ซึ่งหุ้นกลุ่มเดียวกันมักจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน แต่ความแรงไม่เท่ากัน ยิ่งในสถานการณ์ที่หุ้นสองตัวที่มีส่วนต่างราคา หรือมีอัตราส่วนค่อนข้างคงที่ในอดีต แต่ปัจจุบันมีราคาต่างกันมากทั้งที่ปัจจัยแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลง แนวโน้มราคาจึงมักจะกลับไปที่อัตราส่วนเดิม
          เราจึงสามารถเก็งกำไรจากส่วนต่างที่ผิดปกตินี้ด้วยการ Long ฟิวเจอร์สตัวที่ถูก + Short ฟิวเจอร์สตัวที่แพง 
          ซึ่งถ้าเกิดกรณีสัดส่วนกลับไปตามเดิมเราก็จะมีกำไร ไม่ว่าหุ้นตัวที่ถูกวิ่งขึ้นอย่างเดียว หรือหุ้นตัวที่แพงราคาลดลงอย่างเดียว หรือหุ้นสองตัวราคาวิ่งเข้าหากัน ก็จะได้กำไรทุกแบบ แต่ถ้าหุ้นไม่กลับไปสัดส่วนเดิมอันนี้ก็ขาดทุนนะจ๊ะ
          (ข้อดีคือ วางเงินประกันน้อยลง เพราะความเสี่ยงน้อย / ข้อจำกัด การเทรด Inter-Commodity Spread ต้องลงทุนให้จำนวนสัญญา ฟิวเจอร์สมีมูลค่าที่แท้จริงใกล้เคียงกัน จึงทำให้มีต้นทุนมากกว่าเก็งกำไรทิศทาง และส่วนต่างอาจไม่มากพอให้ทำกลยุทธ์มีกำไร)

29.Inter-Commodity Spread
          เป็นเรื่องของการคำนวณอัตราเงินวางหลักประกัน กรณีถือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในสินค้า 2 ตัวที่มีความสัมพันธ์กัน แต่ถือทิศทางตรงกันข้าม (Long AAA + Short BBB) ทำให้ความเสี่ยงโดยรวมลดลง จึงเรียกเก็บเงินวางหลักประกันรวมลดลง ทั้งนี้ตอนเปิดสถานะข้างที่หนึ่งระบบจะกันเงินหลักประกันเต็มจำนวน ต่อมาเมื่อเปิดสถานะตรงข้ามอีกสัญญา ระบบจะกันเงินหลักประกันรวมลดลง ซึ่งการคำนวณวิธีนี้จะใช้ในกรณีที่มีกลยุทธ์เทรดเป็นแบบ Pair Trading

30. Roll over
          เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการต่ออายุสัญญาของฟิวเจอร์ส เพราะสัญญาฟิวเจอร์สมีอายุจำกัด หากถือสถานะมาแล้วมีกำไรอยากถือต่อก็จำเป็นต้องปิดสถานะเดิมที่ใกล้หมดอายุ แล้วไปเปิดสถานะใหม่ในซีรีย์ถัดไป หรือในสัญญาที่มีวันหมดอายุไกลออกไป ซึ่งการ Roll Over มักทำเมื่อแนวโน้มราคาไม่เปลี่ยนแปลง
          โดยช่วงการ Roll Over ราคาฟิวเจอร์สจะมีความผันผวนมาก ราคาระหว่าง 2 ซีรีย์ที่จะมีทั้งแคบและไกลออกไป บางคนได้จังหวะดีการ Roll Over อาจได้ราคาที่ต่ำกว่าทฤษฎีมาก กลับกันบางครั้งอาจได้ต้นทุนที่แพงก็ได้ ดังนั้น ผู้ลงทุนควรวางแผนและจับจังหวะให้ดีก่อนการเปิดปิดสถานะ เพื่อไม่ให้มีต้นทุนที่แพงเกินไป

ดูรายละเอียดสินค้าใน TFEX เพิ่มเติมได้ที่นี่ linkout


แท็กที่เกี่ยวข้อง: แนวคิดเทรด TFEX คำศัพท์
บทความที่เกี่ยวข้อง