5. รู้จักวิธีการส่งคำสั่งซื้อขายใน TFEX
เมื่อผู้ลงทุนได้ศึกษาลักษณะของสินค้า รวมถึงกลไกการซื้อขายฟิวเจอร์สและออปชั่นใน TFEX จนเข้าใจแล้ว หลังจากที่เปิดบัญชี TFEX กับโบรกเกอร์ และวางหลักประกัน ผู้ลงทุนก็จะสามารถทำการส่งคำสั่งเพื่อทำสัญญาซื้อขายใน TFEX ได้ ซึ่งวิธีการส่งคำสั่งซื้อขายใน TFEX ค่อนข้างคล้ายกับวิธีการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น แต่ก็จะมีบางจุดที่มีความแตกต่างและผู้ลงทุนควรรู้ ซึ่งเนื้อหาในส่วนนี้จะแนะนำเกี่ยวกับวิธีการส่งคำสั่งซื้อขายเบื้องต้นใน TFEX โดยมีหลักการและตัวอย่างดังนี้
ส่งคำสั่งผ่านผู้แนะนำการลงทุน (IC) หรือส่งคำสั่งด้วยตัวเองผ่านทางออนไลน์
สิ่งที่เหมือนกันของวิธีการส่งคำสั่งซื้อขายใน TFEX กับวิธีการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น คือ ช่องทางการส่งคำสั่งซื้อขาย ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกส่งคำสั่งซื้อขายผ่านผู้แนะนำการลงทุน (IC) หรือจะส่งคำสั่งซื้อขายด้วยตัวเองผ่านทางออนไลน์ก็ได้เหมือนกับการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น
ปัจจุบันผู้ลงทุนสามารถส่งคำสั่งซื้อขายได้ทุกที่และสะดวกสบายเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้พัฒนาโปรแกรมการส่งคำสั่งซื้อขายพยายามพัฒนาโปรแกรมเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนในทุกด้าน เช่น สามารถใช้งานได้จาก PC, Mobile หรือ Tablet ทั้งระบบปฏิบัติการ Window, iOS และ Android หรือเป็นโปรแกรมที่สามารถส่งคำสั่งซื้อขายทั้ง TFEX และหุ้นได้ในโปรแกรมเดียว ยกตัวอย่างเช่น โปรแกรม Streaming ของค่าย Settrade
Long / Short และ Open / Close
Long / Short และ Open / Close
การส่งคำสั่งซื้อขายใน TFEX จะมีจุดที่แตกต่างจากการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นอยู่ 2 จุดใหญ่ ๆ คือ เรื่องของคำศัพท์ที่ใช้ในการระบุฝั่งที่จะซื้อขาย และการที่ต้องระบุว่าคำสั่งซื้อหรือขายนั้นเป็นการสร้างสถานะใหม่หรือการล้างสถานะของสัญญาที่ถืออยู่
เวลาผู้ลงทุนส่งคำสั่งซื้อขายในตลาดหุ้น ถ้าเป็นคำสั่งประเภท "คำสั่งซื้อ" จะใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า "Buy" และในกรณีที่เป็นคำสั่งประเภท "คำสั่งขาย" ก็จะใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า "Sell" แต่สำหรับคำสั่งซื้อขายใน TFEX นั้น คำสั่งที่ผู้ลงทุนต้องการระบุว่าเป็นฝั่งที่ "ทำสัญญาว่าจะซื้อ" จะใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า "Long" ส่วนคำสั่งที่ต้องการระบุว่าเป็นฝั่งที่จะ "ทำสัญญาว่าจะขาย" จะใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษว่า "Short"
นอกจากนั้น การส่งคำสั่งซื้อขายใน TFEX จะต้องระบุด้วยว่าคำสั่ง Long หรือ Short ที่ส่งมานั้นเป็นคำสั่งเพื่อสร้างสถานะใหม่ หรือเป็นคำสั่งที่ต้องการล้างสถานะที่ถืออยู่ โดยรายละเอียดเพิ่มเติมที่ใช้ระบุสำหรับสร้างสถานะใหม่ จะใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า "Open" แต่ถ้าต้องการล้างสถานะที่ถืออยู่จะใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า "Close" ดังนั้น คำสั่งที่ส่งเพื่อซื้อขาย จะมีอยู่ 4 แบบ คือ Long Open, Long Close, Short Open และ Short Close
อย่างไรก็ตาม โปรแกรมส่งคำสั่งซื้อขายบางโปรแกรมก็มีฟีเจอร์ Auto Position เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุน โดยในขั้นตอนการส่งคำสั่งไม่ต้องระบุว่าเป็นคำสั่งเพื่อสร้างสถานะใหม่ (Open) หรือเป็นคำสั่งเพื่อล้างสถานะ (Close) โดยตัวโปรแกรมจะจัดการระบุสถานะให้โดยอัตโนมัติ
เงื่อนไขอื่น ๆ เกี่ยวกับคำสั่งซื้อขาย
นอกจากการระบุฝั่งของคำสั่งซื้อขายและระบุว่าเป็นการสร้างสถานะหรือล้างสถานะแล้ว ในส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ของคำสั่งซื้อขาย ผู้ลงทุนจะต้องระบุราคาและจำนวนที่ต้องการจะซื้อขายด้วย ซึ่งผู้ลงทุนมักจะระบุราคาและจำนวนที่ต้องการจะซื้อขายเป็นตัวเลขที่ชัดเจน หรือที่เรียกว่าคำสั่งประเภท Limit Order อย่างไรก็ตาม การส่งคำสั่งซื้อขายนั้น ยังสามารถระบุเงื่อนไขอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับราคา จำนวนที่ต้องการซื้อขาย และระยะเวลาที่ต้องการให้คำสั่งนั้น ๆ มีผลได้อีกด้วย ซึ่งผู้ที่สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขต่าง ๆ ที่สามารถระบุได้ในคำสั่งซื้อขาย สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากลิงค์
เงื่อนไขการส่งคำสั่งซื้อขาย
หลังจากที่ผู้ลงทุนเตรียมความพร้อมทำความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานการลงทุนใน TFEX และแนวทางการนำฟิวเจอร์สและออปชั่นใน TFEX ไปใช้ประโยชน์แล้ว ผู้ลงทุนสามารถเข้าสู่
เนื้อหาในส่วนถัดไป ซึ่งจะแนะนำเทคนิคและกลยุทธ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการซื้อขายใน TFEX เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถใช้ประโยชน์จากฟิวเจอร์สและออปชั่นใน TFEX ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ