อีกแนวทางหนึ่งที่ผู้ลงทุนสามารถทำกำไรได้จากการซื้อขายฟิวเจอร์สใน TFEX นอกจากการทำกำไรจากการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงของราคาสินค้า คือ การทำกำไรจากส่วนต่างของราคา เพราะแม้ว่าราคาของฟิวเจอร์สหลายตัวจะมีการเคลื่อนไหวหรือมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกัน แต่ก็ยังมีส่วนต่างด้านราคา ซึ่งมักไม่ได้เป็นค่าคงที่ แต่ส่วนต่างของราคาดังกล่าวจะมีการเปลี่ยนแปลงกว้างขึ้นหรือแคบลง ดังนั้น จึงเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนสามารถทำกำไรจากส่วนต่างราคานี้ได้ โดยเราสามารถทำกำไรจากส่วนต่างของราคาได้ทั้งจากส่วนต่างราคาของฟิวเจอร์สที่อ้างอิงสินค้าประเภทเดียวกันแต่มีอายุสัญญาที่แตกต่างกัน (Calendar Spread) หรือส่วนต่างราคาของฟิวเจอร์สที่อ้างอิงสินค้าต่างชนิดกัน (Inter-Commodity Spread)
นอกจากนี้ อีกกรณีที่ผู้ลงทุนสามารถทำกำไรจากส่วนต่างราคาได้ คือ กรณีที่ราคาฟิวเจอร์สที่ซื้อขายในตลาดและราคาของฟิวเจอร์สในทางทฤษฎี มีความแตกต่างกันมาก ผู้ลงทุนอาจสามารถทำกำไรจากจากส่วนต่างนี้ด้วยกลยุทธ์การทำกำไรแบบปราศจากความเสี่ยง (Arbitrage)
Carlendar Spread
การทำกำไรจากส่วนต่างของราคาฟิวเจอร์สที่มีสินค้าอ้างอิงชนิดเดียวกัน แต่มีอายุสัญญาแตกต่างกัน (Calendar Spread) เริ่มจากการศึกษาส่วนต่างที่เกิดขึ้นในอดีต และปัจจัยที่น่าจะมากระทบกับส่วนต่างของราคา ในกรณีที่ส่วนต่างของราคาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันสูงกว่าหรือต่ำกว่าส่วนต่างที่วิเคราะห์ไว้ ก็สามารถทำการซื้อหรือขายส่วนต่างได้ โดยใน TFEX ผู้ลงทุนสามารถใช้คำสั่งแบบ Combination Order ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้การซื้อขายส่วนต่างของราคาฟิวเจอร์สใน TFEX ทำได้ง่ายขึ้น
ประโยชน์ของกลยุทธ์ Calendar Spread
ข้อดีของการทำกำไรด้วยกลยุทธ์ Calendar Spread คือ เป็นการเพิ่มแนวทางในการทำกำไรอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีความเสี่ยงของผลขาดทุนไม่มากนัก และใช้เงินทุนน้อย เนื่องจากราคาของฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับสินค้าประเภทเดียวกันมักมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน และกรณีที่ผู้ลงทุนถือสัญญาทั้งฝั่งซื้อและฝั่งขายในสินค้าอ้างอิงชนิดเดียวกันแต่อายุสัญญาต่างกัน เงินประกันที่ผู้ลงทุนต้องนำมาวางสำหรับ 1 คู่ (ซื้อ 1 สัญญาและขาย 1 สัญญาคิดเป็น 1 คู่) จะลดลงเหลือเพียง 25% ของเงินประกันที่ต้องวางสำหรับซื้อขาย 1 สัญญา
กลยุทธ์ Calendar Spread
Long Calendar Spread = Long สัญญาเดือนไกล + Short สัญญาเดือนใกล้
Short Calendar Spread = Short สัญญาเดือนไกล + Long สัญญาเดือนใกล้
FAQ เกี่ยวกับ Combination Order ของ SET50 Futures
Inter-Commodity Spread
การทำกำไรจากส่วนต่างของราคาฟิวเจอร์สที่อ้างอิงสินค้าต่างชนิดกัน (Inter-Commodity Spread) จะนิยมศึกษาส่วนต่างของราคา
สินค้าที่ราคามีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกัน หรือกรณีที่คาดว่าราคาของสินค้าประเภทหนึ่งน่าจะปรับตัวขึ้นหรือลงมากกว่าสินค้าอีกประเภทหนึ่งในเชิงเปรียบเทียบ แล้วจึงทำการซื้อฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับสินค้าที่คาดว่าราคาจะปรับตัวขึ้นมากกว่าหรือปรับตัวลดน้อยกกว่าในเชิงเปรียบเทียบ และขายฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับสินค้าที่คาดว่าราคาจะปรับตัวขึ้นน้อยกว่าหรือปรับตัวลงมากกว่าในเชิงเปรียบเทียบ
ประโยชน์ของกลยุทธ์ Inter-Commodity Spread
แนวคิดในการทำกำไรด้วยการใช้กลยุทธ์ Inter-Commodity Spread มีข้อดีอย่างหนึ่ง ที่คล้ายกับ Calendar Spread คือ ใช้เงินลงทุนน้อย เนื่องจากเงินประกันที่ต้องวางกับโบรกเกอร์กรณีถือสัญญาทั้งฝั่งซื้อและฝั่งขายสำหรับฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับสินค้าที่ราคามีความสัมพันธ์ไปในทางเดียวกัน จะมีส่วนลด ซึ่งถ้าสินค้าสองประเภท ราคามีความสัมพันธ์กันมากก็จะได้รับส่วนลดในการวางหลักประกันมาก ส่วนในมุมของส่วนต่างราคาที่เปลี่ยนแปลง มีโอกาสที่ส่วนต่างราคาจะเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าการสร้างสถานะแบบ Calendar Spread เนื่องจากเป็นสินค้าต่างประเภทกัน
Arbitrage
การทำกำไรแบบปราศจากความเสี่ยง (Arbitrage) ในกรณีที่ราคาฟิวเจอร์สที่ซื้อขายในตลาดแพงกว่าราคาฟิวเจอร์สในทางทฤษฎี ทำได้ด้วยการซื้อสินค้าอ้างอิงและทำสัญญาขายฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับสินค้านั้น ๆ หรือในกรณีที่ราคาฟิวเจอร์สที่ซื้อขายในตลาดถูกกว่าราคาฟิวเจอร์สในทางทฤษฎี ทำได้ด้วยการขายสินค้าอ้างอิงและทำสัญญาซื้อฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับสินค้านั้น ๆ ซึ่งโอกาสในการทำกำไรแบบปราศจากความเสี่ยงมักจะเกิดขึ้นในจังหวะที่ราคาของสินค้ามีความผันผวนสูง จึงทำให้ราคาสินค้าและราคาฟิวเจอร์สที่อ้างอิงสินค้านั้น ๆ ซึ่งมีการซื้อขายในแหล่งที่แตกต่างกัน อาจมีการเคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กันในทางทฤษฎี
คำนวณ Margin ได้จากโปรแกรม Streaming คลิก
ผู้สนใจความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคนิคการทำกำไรจากส่วนต่างราคาในTFEX
สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ คลิก