TFEX
5 Min Read

แกะปัจจัย ทำกำไรดอลลาร์ฯ [ตอนที่ 1]

by TFEX
แกะปัจจัย ทำกำไรดอลลาร์ฯ [ตอนที่ 1]

          ดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นสกุลเงินหลักของโลกมายาวนาน ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการเป็นประเทศชนะสงคราม รวมถึงการเกิดขึ้นของระบบการจัดการการเงินที่สำคัญ คือ ระบบเบรตตันวูดส์ (Bretton Woods system) ที่เป็นการร่วมกันของผู้แทน 730 คนจากทั้ง 44 ชาติ ฝ่ายสัมพันธมิตรประชุมกันที่โรงแรมเมาต์วอชิงตันในเบรตตันวูดส์ รัฐนิวแฮมป์เชียร์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเป็นที่มาของการเกิด IMF, ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา (IBRD) ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารโลก และระบบที่กำหนดการแปลงดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นทองคำฝ่ายเดียว นั้นทำให้ทุกประเทศที่ถือเงินดอลลาร์สหรัฐฯ สามารถนำมาแลกเป็นทองคำในอัตราที่กำหนด

          สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จึงกลายเป็นสกุลเงินที่มีความน่าเชื่อถือสูง และถูกใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงการฟื้นฟูหลังสงคราม แม้ในปี 1971 ประธานาธิบดีนิกสัน จะประกาศยกเลิกการแปลงดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นทองคำ แต่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ยังถือเป็นสกุลเงินหลัก และใช้อ้างอิงกับสินค้าต่างๆ เช่น น้ำมัน สินค้าเกษตร โลหะมีค่า ฯลฯ

          แต่หลังวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ในปี 2008 สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีความผันผวนอย่างมาก ทั้งผลจากเศรษฐกิจ ปัญหาหนี้ ความผันผวนในตลาดทุน และความเชื่อมั่นในสถาบันการเงิน รวมถึงผลกระทบจากมาตรการทางการเงินที่ออกมาเพื่อแก้วิกฤติ อย่างนโยบายดอกเบี้ยต่ำ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing: QE) หรือมาตรการลดการถือครองตราสารหนี้ระยะสั้น แล้วเปลี่ยนมาเพิ่มการถือครองตราสารหนี้ระยะยาว (Operation Twist) เหล่านี้ทำให้การวิเคราะห์ทิศทางของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีความซับซ้อนมากขึ้น แม้ปัจจุบันผ่านมามากกว่า 10 ปีหลังวิกฤติ แต่สหรัฐก็ยังคงอยู่ในกรอบนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย

          อย่างในปัจจุบัน (มิถุนายน 2564) อัตราดอกเบี้ย FED Fund Rate ยังอยู่ที่ 0.00 - 0.25% ใกล้เคียงกับช่วงวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ ปริมาณเงินในระบบยังมีจำนวนมาก สะท้อนว่าถ้าจะวิเคราะห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังต้องให้ความสำคัญกับอีกหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยทั่วไปที่เกี่ยวข้อง การเคลื่อนย้ายเงิน ดุลการชำระเงิน เงินเฟ้อ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยจะขอแบ่งปัจจัยเป็นภายใน และภายนอกสหรัฐอเมริกาดังนี้

 

ปัจจัยภายใน (โดยสมมติฐานให้ปัจจัยอื่นๆ คงที่)

          1. การเติบโตทางเศรษฐกิจและผลตอบแทนในตลาดทุนสหรัฐฯ :

ถ้าเศรษฐกิจเติบโตดี หรือผลตอบแทนในตลาดทุนสหรัฐฯ สูง แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะ “แข็งค่าขึ้น”

ถ้าเศรษฐกิจถดถอยหรือชะลอตัว หรือผลตอบแทนในตลาดทุนสหรัฐฯ ต่ำหรือติดลบ แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะ “อ่อนค่าลง”

          2. การค้าระหว่างประเทศ :

ถ้าสหรัฐฯ ได้ดุลการค้า (กับไทย) แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะ “แข็งค่าขึ้น” เทียบเงินบาท

ถ้าสหรัฐฯ เสียดุลการค้า (ให้ไทย) แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะ “อ่อนค่าลง” เทียบเงินบาท

**ได้ดุลการค้าหมายถึง ส่งออกมากกว่านำเข้า

**เสียดุลการค้าหมายถึง นำเข้ามากกว่าส่งออก

          3. นโยบายทางการเงิน:

นโยบายดอกเบี้ย ถ้าธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ย แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะ “แข็งค่าขึ้น”

นโยบายดอกเบี้ย ถ้าธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดดอกเบี้ย แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะ “อ่อนค่าลง”

นโยบายเพิ่มสภาพคล่อง หรืออัดฉีดเม็ดเงิน แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะ “อ่อนค่าลง”

นโยบายลดสภาพคล่อง แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะ “แข็งค่าขึ้น”

 

          นี่เป็นเพียงบางส่วนของการวิเคราะห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ผ่านปัจจัยภายในประเทศสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายนอกอื่น เช่น การเกิดวิกฤติต่างๆ การเพิ่มหรือลดอันดับความน่าเชื่อถือ ผลกระทบจากสกุลเงินทดแทน หรือแม้แต่ความเชื่อมั่นที่มีต่อฐานะทางการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ เอง จะเห็นได้ว่าแนวโน้มการเคลื่อนไหวของตลาดค่าเงินโลกน่าจะมีความผันผวนอีกมากในอนาคต ซึ่งจะขอพูดในตอนถัดไปนะครับ

          นักลงทุนและผู้ประกอบการที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หรือหาโอกาสในการสร้างผลตอบแทนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ สามารถเลือกใช้เครื่องมือของ TFEX ในการสร้างโอกาสทำกำไร ได้ทั้งตลาดขาขึ้นและขาลง

ดูรายละเอียดสินค้าใน USD Futures เพิ่มเติมได้ที่ linkout
ทำความรู้จักกับสินค้า USD Futures เพิ่มเติมได้ที่ linkout 


แท็กที่เกี่ยวข้อง: แนวคิดเทรด USD Futures
บทความที่เกี่ยวข้อง