TFEX
5 Min Read

ทำไมขาลงจึงน่าสนใจ

by TFEX
ทำไมขาลงจึงน่าสนใจ

          “เวลาราคาขึ้นเหมือนขึ้นบันได แต่เวลาลงเหมือนลงลิฟต์” เป็นคำที่ผมเคยฟังผู้ลงทุนพูดถึงราคาหุ้นอย่างออกรส สะท้อนว่าในวัฎจักรของราคาหุ้น ในช่วงขาขึ้นใช้เวลานานกว่าในช่วงตลาดขาลง สอดคล้องกับแนวคิดของ Elliott Wave ที่บอกว่าวัฎจักรราคาหุ้นประกอบด้วย 8 ลูกคลื่น เป็นตลาดขาขึ้น 5 ลูกคลื่น และตลาดขาลง 3 ลูกคลื่น และเมื่อนักลงทุนลองดูการเคลื่อนไหวขอราคาสินทรัพย์ทุกประเภท ก็มีการปรับขึ้นและลงสลับกันไปเช่นกัน หรืออาจจะบอกได้ว่าไม่ว่าเราจะลงทุนในหุ้นบริษัทใด หรือสินทรัพย์ประเภทใดก็จะหนีตลาดขาลงไม่พ้น

          แต่ตลาดขาลงน่ากลัวหรือไม่? สำหรับกลยุทธ์การลงทุนทั่วไปในช่วงตลาดขาลง ก็มักจะเป็นการเน้นให้ถือเงินสดรอ หรือลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำรักษาเงินต้นเพื่อรอจังหวะเวลาขาขึ้นอีกครั้ง ขณะที่ในปัจจุบันตลาดการลงทุนเรามีเครื่องมือที่ช่วยการลงทุนในตลาดขาลง เช่น SBL, สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures Contract) หรือ ตราสารสิทธิในการซื้อและขาย (Options Contract) ที่ให้นักลงทุนสามารถทำกำไรในตลาดช่วงขาลงได้ และเมื่อตลาดขาลงปรับตัวลงเร็วกว่าขาขึ้น นั่นหมายความว่ากรอบในการทำกำไรก็น่าจะมากกว่า หรือสามารถสร้างผลตอบแทนได้เร็วกว่าขาขึ้น อีกประการที่น่าสนใจในการลงทุนช่วงตลาดขาลงคือ ตลาดขาลงอ่านได้ง่ายกว่าตลาดขาขึ้น ทั้งในเชิงของการอ่านปัจจัยพื้นฐาน และปัจจัยทางเทคนิค เพราะในช่วงตลาดขาลงสัญญาณต่างๆ มักจะพร้องกันอย่างรวดเร็ว

          สำหรับการลงทุนในตลาดขาลงโดยใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures Contract) และตราสารสิทธิ (Options Contract) โดยเน้นที่การสร้างกำไรจากทิศทางขาลงสามารถทำได้ดังนี้

 

“Futures Contract”

          เมื่อนักลงทุนมองว่าตลาดเป็นขาลงและต้องการทำกำไรตลาดขาลงด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures Contract) สามารถทำได้โดยการเปิดสัญญาขายล่วงหน้า (Short Positions) ซึ่งก็จะหมายความว่านักลงทุนได้ล๊อกราคาขายไว้ที่ราคาปัจจุบันที่ได้ทำสัญญากัน ดังนั้นถ้าราคามีการปรับตัวลดลงในอนาคต นักลงทุนจะสามารถขายได้ในราคาที่สูงกว่าตลาด ส่วนต่างจากราคาที่นักลงทุนล๊อกไว้ (ราคา ณ วันทำสัญญา) กับราคาปัจจุบันคือกำไรที่นักลงทุนจะได้รับ เช่นตัวอย่างนี้

สมมติว่าสัญญา Futures หุ้น ABC มีตัวคูณเท่ากับ 200

วันที่ 10 พ.ย. เปิดสัญญา Short หุ้น ABC ที่ราคา 100 บาท

วันที่ 15 พ.ย. ราคาหุ้น ABC ลงมาเหลือ 90 บาท

กำไรจากการลงทุน = (100 – 90) x 200 = 2,000 บาท

โดยกำไรขาดทุนของการถือสถานะสัญญา Futures จะถูกคำนวณทุกวัน (Mark to Market) ดังนั้นถ้าราคาไม่ได้ลงตามที่คาดการณ์ไว้ นักลงทุนก็อาจจะขาดทุนได้เช่นกัน

 

“Options Contract”

          หากถ้านักลงทุนมองว่าเป็นตลาดขาลง เราสามารถซื้อสิทธิในการขายล่วงหน้า (Long Put Options) ซึ่งจะทำให้นักลงทุนสามารถล๊อกราคาขายตามที่สัญญากำหนด แต่ต่างกันตรงที่สัญญา Options จะจ่ายเพียงค่า Premium หรือราคาของสิทธิ ซึ่งถ้าราคาไม่ได้เป็นไปตามคาดการณ์นักลงทุนจะขาดทุนสูงสุดเพียงแค่ค่า Premium ที่จ่ายเท่านั้น ตัวอย่างการลงทุนจะเป็นดังนี้

สมมติว่าสัญญา Options หุ้น ABC มีตัวคูณเท่ากับ 200

วันที่ 10 พ.ย. เปิดสัญญา Long Put Options ที่มีราคาใช้สิทธิ 100 บาท มีค่า Premium เท่ากับ 2 บาท

วันที่ 15 พ.ย. ราคาหุ้น ABC ลงมาเหลือ 90 บาท

กำไรจากการลงทุน = (100 – 2 – 90) x 200 = 1,600 บาท

แต่ในกรณีที่ราคาไม่ได้ลงมาตามคาดการณ์ นักลงทุนจะขาดทุนสูงสุดเท่ากับค่า Premium ที่ได้จ่ายไปเท่านั้น

 

          นี่เป็นเพียงตัวอย่างของการลงทุนในตลาดขาลง แม้ว่าตลาดขาลงจะให้ผลตอบแทนสูงจากแรงเหวี่ยงของราคาที่สูงกว่าตลาดขาขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าราคาไม่ได้เป็นไปตามที่ผู้ลงทุนคาดหมายก็อาจจะเกิดผลขาดทุนสูงเช่นเดียวกัน ผู้ลงทุนจึงต้องศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน หากผู้ลงทุนท่านใดสนใจการลงทุนในตลาดขาลงผ่าน Futures หรือ Options สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มได้จาก https://www.tfex.co.th

 

ดูรายละเอียดสินค้าใน TFEX เพิ่มเติมได้ที่นี่ linkout
อ่านบทความข้อมูลด้านการลงทุนใน TFEX เพิ่มเติม linkout


แท็กที่เกี่ยวข้อง: แนวคิดเทรด TFEX
บทความที่เกี่ยวข้อง