ถ้าหาก... สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับค่าเงินในปัจจุบัน ไม่ได้มีเพียงแค่ดอลลาร์สหรัฐฯ คุณคิดว่าจะเป็นอย่างไร?
หุ้น ตราสารหนี้ สินค้าโภคภัณฑ์ ค่าเงิน และสินทรัพย์ดิจิทัล แม้เศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างต่อเนื่องและหลายช่วงเวลามีวิวัฒนาการแบบก้าวกระโดด แต่ถ้ามองสินทรัพย์ที่เป็นแหล่งที่สร้างดอกผลทั้งในรูปแบบกำไรส่วนต่าง ดอกเบี้ย หรือปันผล กลับพบว่าปัจจุบันเรามีสินทรัพย์หลักๆ อยู่เพียง 5 ประเภท คือ
1) หุ้นหรือตราสารทุน
2) ตราสารหนี้หรือการลงทุนในสินทรัพย์ที่อ้างอิงกับหนี้
3) สินค้าโภคภัณฑ์ทั้งที่เป็น Soft Commodities และ Hard Commodities
4) ค่าเงินหรือสกุลเงินที่มีทั้งลงทุนจากการเปลี่ยนแปลงของสกุลเงินและการใช้ Carry Trade ในการหาส่วนต่างกำไรจากดอกเบี้ยของแต่ละสกุลเงิน
5) คือกลุ่มที่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา
ขณะที่ปัจจุบันภายใต้การแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ ความขัดแย้งของชาติมหาอำนาจ การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายทางการเงินขนาดใหญ่ รวมถึงความพยายามในการคุมเศรษฐกิจเพื่อผ่านพ้นหลากหลายวิกฤตในช่วงที่ผ่านมา “ค่าเงิน” ดูจะเป็นสินทรัพย์ที่มีความอ่อนไหวสูง เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจดี เศรษฐกิจแย่ รบแพ้ รบชนะ ใช้นโยบายผ่อนคลายหรือเข้มงวด ขึ้นหรือลดดอกเบี้ย ได้ดุลการค้าหรือเสียดุลการค้า ล้วนแล้วแต่กระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินทั้งสิ้น
การป้องกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน หรืออัตราแลกเปลี่ยน จึงเป็นหนึ่งโจทย์ใหญ่สำหรับผู้นำเข้าส่งออกและถือว่าเป็นหนึ่งในธุรกรรมที่ทำกันเป็นปกติ ขณะที่กลุ่มที่ต้องการทำกำไรหรือหาผลตอบแทนจากค่าเงินก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มใหญ่ ประกอบกับปัจจุบันยังมีสภาพคล่องจำนวนมากอยู่ในตลาดจากการอัดฉีดมาตรการสภาพคล่องของธนาคารกลางขนาดใหญ่ ทำให้การไหลของเงินส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินและสินทรัพย์อย่างมาก
ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าเราอยู่ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นทั้งผลที่มาจากการปรับนโยบายเพื่อลดปัญหาเงินเฟ้อ รวมถึงการ Exit ออกจากมาตรการผ่อนคลายที่ทำกันมาอย่างยาวนาน ค่าเงินเป็นหนึ่งในผลกระทบทางตรงจากการขึ้นดอกเบี้ย ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดที่สุดในปัจจุบันคือการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับทุกสกุลเงิน และไม่เพียงธนาคารกลางสหรัฐฯ เท่านั้นที่จะมีการขยับปรับเพิ่มดอกเบี้ย ธนาคารกลางสำคัญอีกหลายประเทศก็อาจจะต้องเริ่มพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยเช่นกันเพราะความเสี่ยงเงินเฟ้อ ที่เป็นผลกระทบจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย - ยูเครน และถ้าเรามองว่าสถานการณ์การสู้รบน่าจะยืดเยื้อ เพื่อรอจังหวะที่คู่ขัดแย้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมีอำนาจต่อรองที่สูงกว่า ซึ่งเป็นไปได้มากที่รัสเซียจะดึงเวลาให้ถึงช่วงหน้าหนาวที่มีความจำเป็นต้องใช้พลังงานจำนวนมากเพื่อเป็นการกดดันชาติตะวันตก และทำให้อำนาจการเจรจาต่อรองของรัสเซียมีสูงกว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นภาวะเงินเฟ้อก็อาจจะอยู่กับเราไปอย่างน้อยถึงช่วงปลายปี ซึ่งก็จะเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ที่ประเทศต่างๆ ต้องออกนโยบายเพื่อช่วยตัวเองในสภาวการณ์แบบนี้เพื่อพยุงเศรษฐกิจไม่ให้เจอกับ Stagflation และเชื่อได้ว่าค่าเงินจะผันผวนสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
และถ้าหากเครื่องมือทางการเงินที่อ้างอิงกับอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสัญญา Futures มีสินทรัพย์อ้างอิง มากกว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการมีสินค้าอ้างอิงที่เป็นสกุลเงินสำคัญ เช่น เงินยูโร หรือเงินเยน
สกุลเงินยูโรปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในสกุลเงินหลักของโลก เพราะเป็นสกุลเงินที่ใช้ใน 19 ประเทศในยุโรปประกอบด้วย ฝรั่งเศส, เยอรมันนี, ไอร์แลนด์, อิตาลี, ลักเซมเบิร์ก, เนเธอร์แลนด์, โปรตุเกส, สเปน, ออสเตรีย, เบลเยี่ยม, ฟินแลนด์, กรีซ, สโลวีเนีย, ไซปรัส, มอลตา, สโลวาเกีย, เอสโตเนีย, ลัตเวีย และลิทัวเนีย ตามหลักคิด Single Currency ซึ่งกำกับดูแลโดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) การรวมตัวกันของเศรษฐกิจยุโรปทำให้เศรษฐกิจและค่าเงินแข็งแกร่งขึ้น ที่สำคัญต้นทุนการระดมทุน อำนาจต่อรองทางการค้าก็ดีขึ้นด้วย สกุลเงินยูโรจึงถือเป็นหนึ่งสกุลเงินที่มีความน่าสนใจ ประกอบกับสถาณการณ์ปัจจุบันยุโรปอาจจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสถาณการณ์รัสเซีย - ยูเครน ทำให้สกุลเงินประจำภูมิภาคนี้อาจจะมีความผันผวนสูงในอนาคต
สกุลเงินเยนของญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของโลก ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากของญี่ปุ่นทำให้เรามักพบกับคำว่า Yen Carry Trade อยู่บ่อยครั้ง ขณะที่ตลาดการลงทุนในญี่ปุ่นก็ถือเป็นตลาดขาใหญ่ในเอเชียตะวันออก มีเงินไหลเข้าออกจำนวนมาก จึงเป็นเรื่องปกติที่ค่าเงินเยนจะเป็นหนึ่งสกุลเงินที่มีการแลกเปลี่ยนสูงและมีความผันผวน
ดังนั้นถ้าหาก... สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับค่าเงินในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงแค่ดอลลาร์สหรัฐฯ คงจะมีทางเลือกการลงทุนเพื่อเพิ่มโอกาสในสภาวะการที่ตลาดมีความผันผวนได้มากขึ้น และอาจจะมีอีกหลายสกุลเงินที่น่าสนใจ
ดูรายละเอียดสินค้าใน USD Futures เพิ่มเติมได้ที่
ทำความรู้จักกับสินค้า USD Futures เพิ่มเติมได้ที่