TFEX
5 Min Read

ค่าเงินแข็ง – ค่าเงินอ่อน ใครได้ ใครเสีย

by TFEX
ค่าเงินแข็ง – ค่าเงินอ่อน ใครได้ ใครเสีย

          ค่าเงินหรืออัตราแลกเปลี่ยนถือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนมากสินทรัพย์หนึ่งตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้เป็นไปแต่ในเฉพาะค่าเงินบาทของเราเท่านั้นแต่เกิดขึ้นกับหลายสกุลเงิน เหตุสำคัญคือการปรับเปลี่ยนนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (FED Fund Rate) แม้จะมีกลไกของธนาคารกลางในการดูแลมิให้เกิดความผันผวนมากจนเกินไป แต่ก็ต้องยอมรับว่าการไหลของเงินมีผลกระทบสูงกว่าเครื่องมือที่มี ดังนั้นในฐานะผู้ลงทุน หรือผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนก็จำเป็นต้องมีเครื่องมือของตนเองในการบริหารจัดการความเสี่ยง หรืออาจจะเก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากความผันผวนนั้นก็สุดแล้วแต่
 

“ค่าเงินแข็ง – ค่าเงินอ่อน ใครได้ ใครเสีย”
          ค่าเงินที่ผมกำลังกล่าวไม่ได้หมายถึงเพียงค่าเงินบาทเท่านั้น แต่การแข็งค่า หรืออ่อนค่าในทุกสกุลเงินย่อมมีผลกระทบต่อใครคนใดคนหนึ่งไม่มากก็น้อย โดยจะขอแยกผลกระทบจากทั้งการแข็งค่า และอ่อนค่าของสกุลเงิน
ค่าเงินแข็งค่า “ผู้ได้ประโยชน์”
          - ผู้นำเข้าเพราะจะสามารถนำสินค้าเข้าจากต่างประเทศได้ในต้นทุนที่ลดลง
          - ผู้ประกอบการที่ต้องการสั่งซื้อสินค้าเครื่องจักร วัตถุดิบ หรืออุปกรณ์ต่างๆ จากต่างประเทศ ซึ่งจะมีต้นทุนที่ต่ำลงจากการแข็งค่าของค่าเงิน
          - ผู้ที่มีหนี้เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ เพราะทำให้มูลค่าของหนี้ลดลงเมื่อเทียบกับเงินในประเทศ
          - คนทั่วไปที่ต้องการซื้อสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศ ที่ราคาจะถูกลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินในประเทศ
ค่าเงินแข็งค่า “ผู้เสียประโยชน์”
          - ผู้ส่งออกเพราะจะทำให้รายได้ที่รับมาเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศมีมูลค่าลดลงเมื่อแลกเป็นเงินในประเทศ
          - ผู้ประกอบการท่องเที่ยว (เฉพาะที่รับเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ) เพราะจะสามารถแลกเป็นเงินในประเทศลดลง
          - ผู้ที่ทำงานในต่างประเทศ เพราะนำรายได้ที่หามาได้จากต่างประเทศเมื่อโอนกลับหรือแลกเป็นสกุลเงินในประเทศลดลง
ค่าเงินอ่อนค่า “ผู้ได้ประโยชน์”
          - ผู้ส่งออกเพราะจะสามารถนำเงินที่ได้รับจากการขายสินค้ามาแลกเป็นเงินในประเทศได้สูงขึ้น
          - ผู้ประกอบการท่องเที่ยว (เฉพาะที่รับเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ) เพราะนำมาแลกเป็นเงินในประเทศได้สูงขึ้นเช่นกัน
          - ผู้ที่ทำงานในต่างประเทศเพราะจะสามารถโอนกลับหรือแลกเป็นเงินในประเทศได้สูงขึ้น
ค่าเงินอ่อนค่า “ผู้เสียประโยชน์”
          - ผู้นำเข้าเพราะจะทำให้ต้นทุนการซื้อสินค้าจากต่างประเทศสูงขึ้น
          - ผู้ประกอบการที่ต้องซื้อสินค้าเครื่องจักร วัตถุดิบ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ จากต่างประเทศ ซึ่งจะมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากการอ่อนค่าของค่าเงิน
          - ผู้ที่มีหนี้เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศเพราะจะต้องใช้เงินซึ่งเป็นสกุลเงินในประเทศมากขึ้นในการไปชำระหนี้ในต่างประเทศ
          - คนทั่วไปที่ซื้อสินค้าหรือบริการในต่างประเทศจะต้องใช้เงินมากขึ้นในการนำไปแลกเป็นเงินต่างประเทศเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการ
 

          จากข้อสรุปที่ผมหยิบยกมาเล่าให้ฟังเชื่อว่าเพื่อนๆ พอจะเห็นถึงผลกระทบจากการแข็งค่าหรืออ่อนค่าของค่าเงินได้พอสมควร และภายใต้ช่วงนี้เชื่อว่าระบบอัตราแลกเปลี่ยนน่าจะมีความผันผวนไปอีกสักระยะ ดังนั้นเพื่อนๆ ที่ได้รับผลกระทบทั้งเป็นผู้ “ได้ประโยชน์” หรือ “เสียประโยชน์” คงจะพอหาทางรับมือกันได้ โดยหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและง่ายต่อการซื้อขายคือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับสกุลเงินต่างประเทศอย่าง USD Futures ก็อาจจะเป็นหนึ่งทางเลือกช่วยเพื่อนๆ ในการป้องกันความเสี่ยง รวมถึงหาผลตอบแทนในช่วงที่ตลาดค่าเงินผันผวน สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม คลิก
          https://www.tfex.co.th/site/investor/tfex-learning/article/7534

ดูรายละเอียดสินค้าใน USD Futures เพิ่มเติมได้ที่นี่ linkout


แท็กที่เกี่ยวข้อง: แนวคิดเทรด Currency Futures
บทความที่เกี่ยวข้อง