TFEX
5 Min Read

สรุปกิจกรรม TFEX Trading Space 2021 หัวข้อ “Options Workshop: กลยุทธ์เทรดให้กำไรบนตลาดผันผวนด้วย Options"

by TFEX
สรุปกิจกรรม TFEX Trading Space 2021 หัวข้อ “Options Workshop: กลยุทธ์เทรดให้กำไรบนตลาดผันผวนด้วย Options"

“Options คือ New Normal ของตลาดทุนไทย” 

          เชื่อว่าหลายๆ คนที่ติดตามกิจกรรม TFEX Trading Space 2021 ที่จัดขึ้นโดย TFEX มาจนถึงวันสุดท้าย ต้องได้ยินและจำประโยคนี้ได้อย่างแน่นอน จากคำพูดของ คุณปวริศวร์ ภูริเวทย์คุณากร, CFA ผู้อำนวยการฝ่ายค้าหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า บล. เกียรตินาคินภัทร ที่ได้กล่าวไว้ใน Options Workshop หัวข้อ “กลยุทธ์เทรดให้กำไรบนตลาดผันผวนด้วย Options” โดยได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ตลาดหุ้นไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จากเดิมการสร้างโอกาสทำกำไรในแต่ละครั้งต้องเฝ้ารอให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างชัดเจน แต่ Options ถือเป็น New Normal ของเครื่องมือการลงทุนที่จะทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป เพราะไม่ว่าตลาดจะอยู่ในช่วงขาขึ้น, ขาลง, Sideway หรือตลาดไม่มี Trend คุณก็สามารถหาช่องทางทำกำไรให้กับพอร์ตตัวเองได้ทั้งนั้น

          เพื่อให้เทรดเดอร์มือใหม่เข้าใจหลักการของ Options ได้ง่ายขึ้น คุณปวริศวร์ ภูริเวทย์คุณากร จึงได้แบ่งเนื้อหาทั้งหมดเป็น 4 หัวข้อดังต่อไปนี้

1. รู้จักกับ Options
          Options คือสัญญาที่ผู้ขาย Options ให้สิทธิแก่ผู้ที่ซื้อไว้ ว่าจะสามารถใช้สิทธิตามราคาที่ได้ตกลงกัน บนสินทรัพย์อ้างอิง ภายในระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา โดยหลังจากผู้ซื้อจ่ายค่าพรีเมี่ยม (Premium) ให้แก่ผู้ขายแล้ว ผู้ซื้อสามารถเลือกที่จะใช้สิทธิหรือไม่ก็ได้ ส่วนผู้ขายก็จะมีภาระผูกพันหากผู้ซื้อได้ขอใช้สิทธิดังกล่าว ซึ่งตลาด Options ก็เป็นตลาดแบบ Zero Sum Game คือถ้าฝั่งหนึ่งได้อีกฝั่งหนึ่งก็จะเสีย เป็นการเอาผลกำไร/ขาดทุน จากอีกฝั่ง โดย Options สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ Call Options และ Put Options 
                     - Call Options เป็น “สิทธิในการซื้อ” ราคาของ Call Options จะขยับตามราคาสินทรัพย์อ้างอิง ผู้ซื้อจะใช้สิทธิก็ต่อเมื่อราคาสินค้าอ้างอิงนั้นปรับตัวขึ้น แล้วรับกำไรจากส่วนต่างของราคาที่ปรับตัวขึ้นไป หรือจะปิดสถานะก่อนวันหมดอายุสัญญาก็ได้ (เพื่อทำกำไรจากส่วนต่างของค่า Premium ที่ซื้อขาย) ถ้าจะเปรียบ Call Options ก็คล้ายๆ กับ “ใบจองคอนโด” เราเสียเงิน (Premium) ซื้อใบจองมาถือสิทธิในการใช้ซื้อจริงได้ หรือจะขายใบจองต่อหากราคาปรับตัวขึ้นก็ทำได้
                     - Put Options เป็น “สิทธิในการขาย” ราคาของ Put Options จะขยับสวนทางกับราคาสินทรัพย์อ้างอิง ผู้ซื้อจะใช้สิทธิก็ต่อเมื่อราคาสินค้าอ้างอิงนั้นปรับตัวลง แล้วรับกำไรจากส่วนต่างของราคาที่ปรับตัวลงมา หรือจะปิดสถานะก่อนวันหมดอายุสัญญาก็ได้ (เพื่อทำกำไรจากส่วนต่างของค่า Premium ที่ซื้อขาย) ซึ่ง Put Options สามารถนำมาใช้ในการบริหารความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี ถ้าจะเปรียบเทียบก็คล้ายๆ กับ “ประกันโควิด” เรากลัวป่วยไม่อยากเจอความเสี่ยงก็จ่ายเบี้ยประกัน (Premium) หากไม่ได้ใช้ก็แสดงว่าทุกอย่างราบรื่นเป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ แต่หากติดเราก็ยังได้เงินหรือเคลมค่าเสียหายตามส่วนที่เราซื้อประกันไว้ได้

ATM, ITM, OTM คืออะไร

 - At-The-Money หรือ ATM คือ Options ที่มีราคาใช้สิทธิ (Strike Price) ใกล้เคียงกับดัชนีปัจจุบันที่สุด ซึ่งแต่ละซีรีส์จะมีเพียงตัวเดียว
 - In-The-Money หรือ ITM หากเป็น Call Options คือ Options ที่มีราคาใช้สิทธิ (Strike Price) ต่ำกว่าดัชนีปัจจุบัน ทำให้ราคา Premium จะสูงกว่า ATM เพราะหากซื้อ Option ITM มาจะมีโอกาสได้ใช้สิทธิมากกว่า ATM และ OTM ซึ่งหากเป็นกรณี Put Options ที่เป็น ITM จะมีราคาใช้สิทธิสูงกว่าดัชนีปัจจุบัน
 - Out-of-The-Money หรือ OTM หากเป็น Call Options คือ Options ที่มีราคาใช้สิทธิ (Strike Price) สูงกว่าดัชนีปัจจุบัน ทำให้ราคา Premium จะต่ำกว่า ATM เพราะด้วย Strike Price ที่สูง ซื้อมาแล้วก็ยังต้องรอลุ้นโอกาสใช้สิทธิในอนาคตว่าราคาจะปรับตัวขึ้นหรือไม่ ซึ่งหากเป็นกรณี Put Options ที่เป็น OTM จะมีราคาใช้สิทธิต่ำกว่าดัชนีปัจจุบัน

ประโยชน์ของ Options

 - ใช้เก็งกำไรได้ทั้งตลาดขาขึ้นและขาลง
 - จำกัดขาดทุนแต่มีโอกาสได้กำไรไม่จำกัดในฝั่ง Long
 - ใช้เงินลงทุนไม่เยอะ
 - ช่วยกระจายความเสี่ยง
 - นำไปสร้างกลยุทธ์การเทรดได้หลากหลาย

ความเสี่ยงของ Options

 - ความเสี่ยงด้านราคาดัชนีอ้างอิง (Market Risk)
 - ความเสี่ยงด้านความผันผวน (Volatility Risk)
 - ความเสี่ยงด้านค่าความเสื่อมเวลา (Time Decay)
 - ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk)
 

2. กลยุทธ์การเทรด Options ในจังหวะต่างๆ

          หลังจากเรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่อง Options กันเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาที่นักลงทุนจะนำหลักการเหล่านั้นมาปรับหรือประยุกต์ใช้เพื่อหาโอกาสทำกำไรโดยการสร้างกลยุทธ์ต่างๆ ขึ้นมา ซึ่งคุณปวริศวร์ ก็ได้กล่าวถึงทั้ง 2 แบบ คือ กลยุทธ์ขั้นพื้นฐาน และ กลยุทธ์ขั้นประยุกต์

กลยุทธ์ขั้นพื้นฐาน :

 - ซื้อ Call Options: เมื่อคาดว่าดัชนีจะขึ้นมากๆ ขาดทุนไม่เกินค่า Premium ที่จ่ายไป มีสิทธิกำไรไม่จำกัดหากถูกทาง
 - ซื้อ Put Options: เมื่อคาดว่าดัชนีจะตกมากๆ ขาดทุนไม่เกินค่า Premium ที่จ่ายไป มีสิทธิกำไรไม่จำกัดหากถูกทาง
 - ขาย Call Options: เมื่อคาดว่าดัชนีมีโอกาส Sideway หรือลงมากกว่าจะขึ้น กำไรจำกัดแค่ค่า Premium ที่ได้รับ มีสิทธิขาดทุนไม่จำกัดหากผิดทาง
 - ขาย Put Options: เมื่อคาดว่าดัชนีมีโอกาส Sideway หรือขึ้นมากกว่าจะลง กำไรจำกัดแค่ค่า Premium ที่ได้รับ มีสิทธิขาดทุนไม่จำกัดหากผิดทาง

กลยุทธ์ขั้นประยุกต์ :

 - Call Spread: คาดว่าดัชนีจะขึ้น จ่าย Premium ถูกลง แต่จำกัดกำไร เป็นการซื้อ Call Options ที่ ราคาใช้สิทธิ (Strike Price) ต่ำ คู่กับการขาย Call Options ที่ ราคาใช้สิทธิ (Strike Price) สูง
 - Put Spread: คาดว่าดัชนีจะตก คล้ายๆ Call Spread คือจ่าย Premium ถูกลง แต่จำกัดกำไร เป็นการซื้อ Put Options ที่ ราคาใช้สิทธิ (Strike Price) สูง คู่กับการขาย Put Options ที่ ราคาใช้สิทธิ (Strike Price) ต่ำ
 - ซื้อ Straddle: คาดว่าราคาดัชนีจะมีการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เป็นการซื้อ Call Options คู่กับการซื้อ Put Options ราคาใช้สิทธิ (Strike Price) เดียวกัน แต่เราจะแบกต้นทุนค่า Premium ค่อนข้างสูง
 - ขาย Straddle: คาดว่าดัชนีจะไม่ไปไหนเป็น Sideway และมีความผันผวนต่ำ เป็นการขาย Call Options คู่กับการขาย Put Options ราคาใช้สิทธิ (Strike Price) เดียวกัน ซึ่งจะได้รับค่า Premium จากทั้งสองฝั่ง แต่สามารถขาดทุนไม่จำกัดเช่นกัน

 

3. เทรด Options ต้องดูอะไรบ้าง

 - เลือกซื้อขาย Series ที่มี Liquidity หรือสภาพคล่องสูง เช่น ตัวที่หมดอายุรายไตรมาส
 - เลือก Strike Price ที่อยู่แถว ATM เพราะจะได้มี Liquidity
 - ดู Volume, OI ประกอบ เพราะเราซื้อเพื่อ Trade ไม่ได้ซื้อเพื่อถืออย่างเดียวจนหมดอายุ
 - เลือกประเภทหรือกลยุทธ์ Options ให้เหมาะกับการคาดการณ์สภาวะตลาด
 - วางแผนการลงทุนโดยใช้เครื่องมือคำนวณราคา Options

 

4. เครื่องมือคำนวณมูลค่า Options

          เครื่องมือที่คุณปวริศวร์ ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างในการคำนวณหามูลค่า Options ก็คือ Black-Scholes Model ซึ่งเป็นโมเดลที่ให้ผลแม่นยำโดยเฉพาะสำหรับ European Options หากต้องการนำโมเดลนี้ไปใช้ นักลงทุนควรพิจารณาในเรื่องของความผันผวนของดัชนี (Volatility) และ Implied Volatility หรือค่าความผันผวนที่ตลาดคาดการณ์ ซึ่งคุณปวริศวร์ ได้บอกไว้ว่าค่าความผันผวนประเภทนี้เปรียบเสมือนเป็นตัวชี้วัดว่าตลาดอยู่ในสภาวะกลัวหรือกล้า ยิ่งค่าความผันผวนนี้สูงเท่าไหร่ ตลาดจะมีความกลัว แต่ในขณะเดียวกันถ้าค่าความผันผวนนี้ต่ำ ตลาดจะมีความกล้า ซึ่งการซื้อขาย Options หากเราเป็นผู้ซื้อและคาดการณ์ทิศทางได้ถูกด้วยแล้ว ยังอาจได้ Profit Gain มากขึ้นจากเรื่องความผันผวนของสภาพตลาดช่วยอีกแรงด้วย

 

สามารถดูค่า Implied Volatility และคำนวณสูตร Black-Scholes Model ได้ที่นี่ linkout

 

          สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้เล่นที่ชอบความเสี่ยงเข้าซื้อ Call Options ในช่วง Out-of-The-Money หรือผู้เล่น Call Spread ที่ยอมจำกัดกำไรของตัวเองเพื่อจะได้จ่ายค่าพรีเมี่ยมน้อยลง ก็อย่าลืมไปว่าการลงทุนในตลาดที่ผันผวนสูงอย่าง TFEX นั้นต่อให้คุณสร้างกลยุทธ์ใหม่มาเป็นอีกสักร้อยหรือพันวิธี หากขาดวินัยและการลงมือปฏิบัติจริง ผลตอบแทนก็จะเป็นเพียงแค่สิ่งที่คุณคาดการณ์ขึ้นมาเท่านั้น ไม่สามารถก่อให้เกิดผลกำไรได้ขึ้นมาจริงๆ

 

รับชม TFEX Trading Space 2021 ฉบับเต็มย้อนหลังได้ที่นี่ linkout 
ดูรายละเอียดสินค้าใน SET50 Options เพิ่มเติมได้ที่ linkout


คอร์ดเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับ 
Options ฟรี!     
หลักสูตร SET50 Options ฉบับมือใหม่ทั้งหมดได้ที่ linkout

หลักสูตร Options First Class ได้ที่ linkout
Options Workshop From Home ได้ที่ linkout 

 


แท็กที่เกี่ยวข้อง: แนวคิดเทรด SET50 Options TFEX Trading Space 2021
บทความที่เกี่ยวข้อง