TFEX
5 Min Read

แนวคิดและการวางแผนการลงทุนในสัญญาสิทธิล่วงหน้า (Options)

by TFEX

          สำหรับผู้ลงทุนที่สนใจซื้อขายออปชัน อันดับแรกควรทำความเข้าใจพื้นฐาน เกี่ยวกับออปชัน เสียก่อน เนื่องจากการซื้อขายออปชันมีรายละเอียดและรูปแบบของผลตอบแทนหลากหลายกว่าฟิวเจอร์ส ทำให้ออปชันเป็นเครื่องมือทางการเงินที่สามารถนำมาใช้สร้างกลยุทธ์การทำกำไรได้ในทุกสภาวะของตลาด ตอบสนองการสร้างผลตอบแทนได้หลายมุมมอง และยังสร้างกลยุทธ์การซื้อขายแบบต่อเนื่องได้หลายวิธีอีกด้วย

“ออปชันทำกำไรได้หลากหลายกลยุทธ และใช้ได้ในทุกสภาพตลาด”


แนวคิดเทรดทำกำไร Options ตามแนวโน้มราคา

Options หรือสัญญาสิทธิล่วงหน้าที่ให้ผู้ลงทุนสามารถซื้อหรือขาย “Call Options” (สิทธิในการซื้อ) หรือ “Put Options” (สิทธิในการขาย) ของสินค้าอ้างอิงการซื้อขายออปชันจะซื้อขายบนค่า “Premium” ณ ระดับราคาใช้สิทธิ (Exercise Price) ที่ระบุไว้ในสัญญา ในปริมาณและระยะเวลาตามที่สัญญากำหนดโดย Options สามารถสร้างโอกาสทำกำไรได้ทุกสภาวะตลาด ทั้งตลาดขาขึ้น (Uptrend) ตลาดขาลง (Downtrend) รวมถึงสภาวะที่ตลาดไม่มีแนวโน้ม (Sideway) ผู้ลงทุนสามารถเลือกใช้กลยุทธ์ในการลงทุนผ่าน Options ตามแนวโน้มได้ดังนี้

 

แนวโน้มขาขึ้น (Uptrend)

กลยุทธ์ “Long Call Options” เป็นแนวความคิดที่มองว่าภาพรวมของสินค้าอ้างอิงมีทิศทางขาขึ้นที่ชัดเจน

ผู้ลงทุนที่ “ซื้อ” Options สิทธิในการซื้อ (Long Call Options) จะได้กำไรเมื่อราคาปัจจุบัน “สูงกว่า” ราคาใช้สิทธิบวกกับค่า Premium ที่จ่ายไป [(ราคาปัจจุบัน - ราคาใช้สิทธิ) - ค่า Premium] x ตัวคูณสัญญา

 

ตัวอย่าง การใช้ Options ทำกำไรในดัชนี SET50 ขาขึ้น

“Open Long S50M23C950”

หรือเปิดสถานะ Long Call Options ที่อ้างอิงดัชนี SET50 ที่มีราคาใช้สิทธิ 950 จุด หมดอายุเดือนมิถุนายน ปี 2023 โดยสมมติว่าดัชนีปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 950 จุด และมีค่า Premium เท่ากับ 10 จุด

3.3.1 (1) Long Call Options

หากในวันสิ้นสุดสัญญา

ดัชนี SET50 ปรับตัวขึ้นมาที่ระดับ 980 จุด ผู้ลงทุนจะได้กำไรเท่ากับ 20 จุด

[(980 - 950) - 10] x 200 หรือคิดเป็น 4,000 บาท / สัญญา

ซึ่งค่า Premium ที่ชำระไปนั้นเราต้องคิดเป็นต้นทุนในการซื้อขายด้วย เมื่อรวมเข้ากับราคาใช้สิทธิจะทำให้มีจุดคุ้มทุน (Breakeven) อยู่ที่ 960 จุด หรือหมายความว่าเราจะเริ่มมีกำไรหากดัชนีขึ้นเหนือ 960 จุด

แต่ในทางตรงกันข้ามหากดัชนีไม่สามารถปรับขึ้นไปมากกว่าราคาใช้สิทธิที่ 950 จุด ผู้ลงทุนจะขาดทุนจำกัดเท่ากับค่า Premium ที่ชำระไป หรือเท่ากับ 10 x 200 = 2,000 บาท / สัญญา

และกรณีที่ดัชนีสามารถขึ้นเหนือกว่า 950 จุด แต่ไม่ถึงจุดคุ้มทุน (Breakeven) ที่ 960 จุด เช่น ดัชนีขึ้นมาที่ระดับ 955 จุด ผู้ลงทุนจะยังขาดทุนอยู่ ถึงจะได้รับส่วนต่างระหว่างราคาใช้สิทธิกับดัชนีปัจจุบัน 5 จุด แต่ค่า Premium ที่ชำระไปก่อนที่ 10 จุดนั้น สูงกว่าส่วนต่างที่ได้รับ [(955 – 950) – 10] x 200 หรือคิดเป็นขาดทุน -1,000 บาท / สัญญา

 

แนวโน้มขาลง (Downtrend)

กลยุทธ์ “Long Put Options” เป็นแนวความคิดที่มองว่าภาพรวมของสินค้าอ้างอิงมีทิศทางขาขึ้นที่ชัดเจน ผู้ลงทุนที่ “ซื้อ” Options สิทธิในการขาย (Long Put Options) จะได้กำไรเมื่อราคาปัจจุบัน “ต่ำกว่า” ราคาใช้สิทธิบวกกับค่า Premium ที่จ่ายไป [(ราคาใช้สิทธิ - ราคาปัจจุบัน) - ค่า Premium] x ตัวคูณสัญญา 

 

ตัวอย่าง การใช้ Options ทำกำไรในดัชนี SET50 ขาลง

“Open Long S50M23P900”

หรือเปิดสถานะ Long Put Options ที่อ้างอิงดัชนี SET50 ที่มีราคาใช้สิทธิ 900 จุด หมดอายุเดือนมิถุนายน ปี 2023 โดยสมมติว่าดัชนีปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 900 จุด และมีค่า Premium เท่ากับ 10 จุด

3.3.1 (2) Long Put Options

หากดัชนี SET50 ปรับตัวลงมาที่ระดับ 880 จุด ผู้ลงทุนจะได้กำไรเท่ากับ 10 จุด

[(900 – 880) - 10 จุด] x 200 หรือคิดเป็น 2,000 บาท / สัญญา

ซึ่งค่า Premium ที่ชำระไปนั้นเราต้องคิดเป็นต้นทุนในการซื้อขายด้วย เมื่อรวมเข้ากับราคาใช้สิทธิจะทำให้มีจุดคุ้มทุน (Breakeven) อยู่ที่ 890 จุด หรือหมายความว่าเราจะเริ่มมีกำไรหากดัชนีลงต่ำกว่า 890 จุด

แต่ในทางตรงกันข้ามหากดัชนีไม่สามารถปรับตัวลงต่ำกว่าราคาใช้สิทธิที่ 900 จุด ผู้ลงทุนจะขาดเท่าจำกัดเท่ากับค่า Premium ที่ชำระไป หรือเท่ากับ 10 x 200 = 2,000 บาท / สัญญา

และกรณีที่ดัชนีสามารถลงต่ำกว่า 900 จุด แต่ไม่ถึงจุดคุ้มทุน (Breakeven) ที่ 890 จุด เช่น ดัชนีลงมาที่ระดับ 895 จุด ผู้ลงทุนจะยังขาดทุนอยู่ ถึงจะได้รับส่วนต่างระหว่างราคาใช้สิทธิกับดัชนีปัจจุบัน 5 จุด แต่ค่า Premium ที่ชำระไปก่อนที่ 10 จุดนั้น สูงกว่าส่วนต่างที่ได้รับ [(900 – 895) – 10] x 200 หรือคิดเป็นขาดทุน -1,000 บาท / สัญญา

 

ไม่มีแนวโน้ม (Sideway)

กลยุทธ์การลงทุนใน Options ช่วงที่ตลาดไม่มีแนวโน้มอาจจะแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ รูปแบบตลาด Sideway Up กับ Sideway Down โดยเน้นไปที่กลยุทธ์ Short Options เพื่อรับค่า Premium ตามระดับราคาใช้สิทธิมาก่อนหากในวันที่สัญญาหมดอายุราคายังอยู่ในระดับเดิมจะได้กำไรตามค่า Premium ที่รับมา แต่ถ้าหากผิดทางค่า Premium ที่เคยได้รับมาก่อนนั้นอาจจะลดหลั่นลงจนกลายเป็นขาดทุนได้ตามระดับราคาที่ผิดทาง

การ Short Option นั้นจะมีการวางหลักประกันตามระดับหลักประกันที่กำหนด ต่างกับการ Long Options

 

ตลาด Sideway Down

กลยุทธ์ “Short Call Options” เป็นแนวความคิดที่มองว่าภาพรวมของสินค้าอ้างอิงมีทิศทางขาลงแบบไม่ชัดเจน ผู้ลงทุนที่ “ขาย” Options สิทธิในการซื้อ (Short Call Options) จะได้กำไรเมื่อราคาปัจจุบัน “ต่ำกว่า” ราคาใช้สิทธิ โดยจะได้กำไรตามค่า Premium ที่ได้รับมา

  • กรณีที่ ราคาปัจจุบัน < ราคาใช้สิทธิ จะกำไรตาม (ค่า Premium x ตัวคูณสัญญา)
  • กรณีที่ ราคาปัจจุบัน > ราคาใช้สิทธิ จะขาดทุนตาม [(ราคาใช้สิทธิ - ราคาปัจจุบัน) + ค่า Premium] x ตัวคูณสัญญา

 

ตัวอย่าง

“Open Short S50M23C950”

หรือเปิดสถานะ Short Call Options ที่อ้างอิงดัชนี SET50 ที่มีราคาใช้สิทธิ 950 จุด หมดอายุเดือนมิถุนายน ปี 2023 โดยสมมติว่าดัชนีปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 940 จุด และมีค่า Premium เท่ากับ 10 จุด

ผู้ลงทุนจะได้กำไรเท่ากับค่า Premium 10 จุด x 200 หรือคิดเป็น 2,000 บาท / สัญญา เนื่องจากราคาปัจจุบันต่ำกว่าราคาใช้สิทธิ

3.3.1 (3) Short Call Options

แต่ในทางตรงกันข้ามหากดัชนี SET50 ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 950 จุด ผู้ลงทุนจะเริ่มมีสิทธิขาดทุนได้ไม่จำกัด ตามส่วนต่างของดัชนี ซึ่งค่า Premium ที่ได้รับมาก่อนนั้นเราต้องคิดว่าเป็นกำไรสูงสุดที่สามารถเป็นไปได้ เมื่อรวมเข้ากับราคาใช้สิทธิจะทำให้มีจุดคุ้มทุน (Breakeven) อยู่ที่ 960 จุด หรือหมายความว่าเราจะเริ่มขาดทุนหากดัชนีขึ้นเหนือ 960 จุด

เช่น หากดัชนีขึ้นไปถึงระดับ 980 จุด ผู้ลงทุนจะขาดทุนเท่ากับ -20 จุด

[(950 - 980) + 10] x 200 หรือคิดเป็น -4,000 บาท / สัญญา

และกรณีที่ดัชนีขึ้นสูงกว่าราคาใช้สิทธิ 950 จุด แต่ไม่ถึงจุดคุ้มทุน (Breakeven) ที่ 960 จุด เช่น ดัชนีขึ้นไปที่ระดับ 955 จุด ผู้ลงทุนจะยังได้กำไรอยู่เล็กน้อยตามค่า Premium ที่ได้รับมาก่อนที่ 5 จุด

[(950 – 955) + 10] x 200 หรือคิดเป็น 1,000 บาท / สัญญา

 

ตลาด Sideway Up

กลยุทธ์ “Short Put Options” เป็นแนวความคิดที่มองว่าภาพรวมของสินค้าอ้างอิงมีทิศทางขาขึ้นแบบไม่ชัดเจน ผู้ลงทุนที่ “ขาย” Options สิทธิในการขาย (Short Put Options) จะได้กำไรเมื่อราคาปัจจุบัน “สูงกว่า” ราคาใช้สิทธิ โดยจะได้กำไรตามค่า Premium ที่ได้รับมา

  • กรณีที่ ราคาปัจจุบัน > ราคาใช้สิทธิ จะกำไรตาม (ค่า Premium x ตัวคูณสัญญา)
  • กรณีที่ ราคาปัจจุบัน < ราคาใช้สิทธิ จะขาดทุนตาม [(ราคาปัจจุบัน - ราคาใช้สิทธิ) + ค่า Premium] x ตัวคูณสัญญา

 

ตัวอย่าง

“Open Short S50M23P900”

หรือเปิดสถานะ Short Put Options ที่อ้างอิงดัชนี SET50 ที่มีราคาใช้สิทธิ 900 จุด หมดอายุเดือนมิถุนายน ปี 2023 โดยสมมติว่าดัชนีปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 910 จุด และมีค่า Premium เท่ากับ 10 จุด

ผู้ลงทุนจะได้กำไรเท่ากับค่า Premium 10 จุด x 200 หรือคิดเป็น 2,000 บาท / สัญญา เนื่องจากราคาปัจจุบันสูงกว่าราคาใช้สิทธิ

3.3.1 (4) Short Put Options

แต่ในทางตรงกันข้ามหากดัชนี SET50 ปรับตัวขึ้นลงต่ำกว่าระดับ 900 จุด ผู้ลงทุนจะเริ่มมีสิทธิขาดทุนได้ไม่จำกัด ตามส่วนต่างของดัชนี ซึ่งค่า Premium ที่ได้รับมาก่อนนั้นเราต้องคิดว่าเป็นกำไรสูงสุดที่สามารถเป็นไปได้ เมื่อรวมเข้ากับราคาใช้สิทธิจะทำให้มีจุดคุ้มทุน (Breakeven) อยู่ที่ 890 จุด หรือหมายความว่าเราจะเริ่มขาดทุนหากดัชนีลงต่ำกว่า 890 จุด

เช่น หากดัชนีลงไปที่ระดับ 880 จุด ผู้ลงทุนจะขาดทุนเท่ากับ -10 จุด

[(880 - 900) + 10] x 200 หรือคิดเป็น -2,000 บาท / สัญญา

และกรณีที่ดัชนีลงต่ำกว่าราคาใช้สิทธิ 900 จุด แต่ไม่ถึงจุดคุ้มทุน (Breakeven) ที่ 890 จุด เช่น ดัชนีลงไปที่ระดับ 895 จุด ผู้ลงทุนจะยังได้กำไรอยู่เล็กน้อยตามค่า Premium ที่ได้รับมาก่อนที่ 5 จุด

[(895 – 900) + 10] x 200 หรือคิดเป็น 1,000 บาท / สัญญา

 

  • การปิดสถานะก่อนวันหมดอายุสัญญา

Options นั้นไม่จำเป็นต้องถือสถานะเพื่อรอจนถึงวันหมดอายุสัญญาเพียงอย่างเดียว ผู้ลงทุนสามารถปิดสถานะก่อนถึงวันหมดอายุสัญญาได้เช่นเดียวกับ Futures ซึ่งจะได้กำไรหรือขาดทุนตามส่วนต่างระหว่างค่า Premium ขณะปิดสถานะ เทียบกับค่า Premium ที่ชำระไปหรือได้รับ ในตอนเปิดสถานะ

 

แนวคิดเทรดทำกำไร Options เมื่อตลาดมีความผันผวนสูง

Volatility หรือความผันผวนเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผู้ลงทุนสามารถใช้ในการประเมินเพื่อกำหนดกลยุทธ์การลงทุนใน Options ได้ โดยพิจารณาจาก Volatility หากมีค่าที่สูงแปลว่าตลาดมีความผันผวนสูง กลยุทธ์หลักจะเน้นในฝั่ง Long Options แต่ถ้า Volatility ต่ำแปลว่าตลาดมีความผันผวนน้อย กลยุทธ์หลักจะเน้นในฝั่ง Short Options

สอดคล้องกับที่ได้กล่าวไปถึงกลยุทธ์การลงทุนใน Options ช่วงที่ตลาดมีทิศทางชัดเจนอย่างตลาดขาขึ้น (Uptrend) ตลาดขาลง (Downtrend) หรือสภาวะตลาดที่ไม่มีแนวโน้ม (Sideway) ซึ่งกลยุทธ์ Long Options จะเหมาะกับการใช้ในช่วงที่ตลาดมีทิศทางชัดเจนคือตลาดขาขึ้น (Uptrend) และตลาดขาลง (Downtrend) ซึ่งจะเป็นช่วงจังหวะที่ราคามีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง ส่วนในช่วงที่สภาวะตลาดไม่มีแนวโน้ม (Sideway) ราคาไม่ค่อยเคลื่อนไหวหรือความผันผวนต่ำกลยุทธ์หลักจะเป็นการ Short Options

ซึ่งการวางเงินสำหรับกลยุทธ์ Long Options นั้น จะไม่มีการวางหลักประกันขั้นต้น แต่เป็นการชำระค่า Premium ตามราคาใช้สิทธิที่เราเลือกซื้อ เช่น S50M23C950 มีค่า Premium ที่ต้องจ่ายมีจำนวน 10 จุด หมายความว่าเราต้องวางเงินในพอร์ตให้มากกว่า (10 x 200) หรือ 2,000 บาท (ยังไม่รวมค่าธรรมเนียม) เพื่อซื้อ Options ตัวนี้จำนวน 1 สัญญา ส่วนกลยุทธ์ Short Options นั้น จะต่างกันที่ต้องวางหลักประกันตามเกณฑ์ที่กำหนดในแต่ละราคาใช้สิทธิ โดยจะได้รับค่า Premium มาก่อน ซึ่งควรวางหลักประกันให้เหมาะสมกับ Options ที่เลือกเทรดโดยคำนึงถึงจุดตัดขาดทุนกรณีผิดทางที่ค่า Premium เพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ

  • Call Options ที่มีราคาใช้สิทธิต่ำ จะใช้หลักประกันที่สูงกว่า Call Options ที่มีราคาใช้สิทธิสูง
  • Put Options ที่มีราคาใช้สิทธิสูง จะใช้หลักประกันที่สูงกว่า Put Options ที่มีราคาใช้สิทธิต่ำ

 

แนวคิดป้องกันความเสี่ยงด้วย Options

แนวทางในการใช้สัญญา Options สำหรับผู้ที่มีสถานะหรือถือครองสินทรัพย์อ้างอิงเกี่ยวกับดัชนี SET50 Index เช่น กองทุนรวม หุ้น หรือสัญญาฟิวเจอร์ส เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา โดยเฉพาะหากตลาดเป็นขาลงสินทรัพย์ที่ผู้ลงทุนถือครองก็จะมีมูลค่าลดลงไปด้วยซึ่งมีขั้นตอนในการใช้ Options เพื่อป้องกันความเสี่ยง 3 ขั้นตอนดังนี้

1. ควรรู้มูลค่าเต็มของสัญญา Options เทียบกับมูลค่าสินทรัพย์ที่เราถือครอง ว่าควรต้องใช้จำนวนกี่สัญญาในการป้องกันความเสี่ยง ต้องการป้องกันความเสี่ยงเพียงบางส่วนหรือจะป้องกันความเสี่ยงเต็มจำนวน เช่น เรามีกองทุนรวมมูลค่า 400,000 บาท หากใช้ Options ในการป้องกันความเสี่ยงจำนวน 2 สัญญา จะป้องกันความเสี่ยงได้ใกล้เคียงมูลค่าเต็มของกองทุนรวมที่มี เนื่องจากมูลค่าสัญญา Options 1 สัญญา มีตัวคูณดัชนีที่ 200 บาท ต่อ 1 จุด
2. เปิดสถานะสัญญา Options เพื่อป้องกันความเสี่ยงขาลง เป็นการชดเชยมูลค่าที่ลดลง
- ป้องกันความเสี่ยงกรณีกังวลว่าราคาสินทรัพย์จะปรับตัวลงในอนาคต ให้เปิดสถานะซื้อสิทธิในการขาย (Long Open Put Options)
3. ติดตามผลกำไรขาดทุน หากคาดว่าตลาดจะกลับตัวหรือไม่ต้องการป้องกันความเสี่ยงแล้ว ให้ปิดสถานะสัญญา Options


แท็กที่เกี่ยวข้อง: แนวคิดและการวางแผนเทรด Options
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง