TFEX
5 Min Read

5 วิธี Trailing Stop ทำกำไร SET50 Futures แบบไม่ขายหมู

by TFEX
97.5 วิธี Trailing Stop ทำกำไร SET50 Futures แบบไม่ขายหมู
          SET50 Index Futures เป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้ลงทุนใน TFEX บ่อยครั้งที่ผู้ลงทุนสามารถเข้าไปซื้อขายเพื่อสร้างสถานะสัญญาในจังหวะที่ดี แต่ตอนที่ต้องการล้างสถานะกลับเจอกับปัญหาไม่รู้ว่าจะทำกำไรตอนไหน
          ซึ่งที่มาของปัญหานี้เกิดขึ้นหลังจากที่สถานะที่ถือยู่เริ่มมีผลเป็นกำไร ผู้ลงทุนจะเกิดความกังวลว่า ถ้าไม่ทำรีบกำไรก็กลัวว่าราคาที่เปลี่ยนแปลงในอนาคตจะทำให้ผลกำไรที่มีอยู่ลดลง แต่ก็ลังเลอีกว่าถ้าเกิดรีบร้อนทำกำไรแล้วแล้วราคาในอนาคตเป็นไปในทิศทางทีดีขึ้น ก็จะเสียโอกาสได้กำไรจำนวนมากๆ ไป
          เหตุผลที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าความคาดหวังของผู้ลงทุนส่วนใหญ่ต้องการล้างสถานะโดยซื้อขายให้ได้ในราคาที่ดีที่สุด เพื่อให้ได้กำไรมากที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลที่จะทำให้เราสามารถทำกำไรได้มากที่สุด จะมีก็แต่แนวทางในการทำกำไร ที่จะให้เราทำกำไรได้ดีพอสมควร และไม่รีบร้อนทำกำไรเร็วจนเกินไป (ไม่ขายหมู)
          เราจึงได้รวบรวมเทคนิคการทำกำไร โดยใช้ข้อมูลจากกราฟราคา เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ลงทุนลองนำไปประยุกต์ใช้งานกับการซื้อขาย ซึ่งเทคนิคเหล่านี้เรียกรวมๆ ว่า “Trailing Stop” โดยเทคนิคในการทำกำไรแบบ Trailing Stop มีแนวคิดว่า จะไม่รีบร้อนทำกำไรเร็วจนเกินไป พร้อมกับต้องการปกป้องผลกำไรที่ควรจะได้ไม่ให้หายไป
          เทคนิค Trailing Stop จะใช้การกำหนดว่า ถ้าราคาปรับตัวในทิศทางตรงข้ามกับสถานะที่ถืออยู่ไปเท่าไรจึงจะถือว่าเป็นจุดที่ควรล้างสถานะเพื่อปกป้องกำไรที่มีอยู่ เนื่องจากการปรับตัวในทิศทางตรงข้ามลักษณะนี้ เป็นสัญญาณเตือนที่ชวนให้เชื่อได้ว่าแนวโม้มของราคาไม่เป็นใจกับสถานะที่ถืออยู่
          เทคนิค Trailing Stop มีวิธีการกำหนดระดับราคาที่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่หลายวิธี เช่น กำหนดเป็นตัวเลขตายตัว กำหนดเป็น % ของราคา กำหนดจากกราฟราคาที่เป็นแนวรับแนวต้าน กำหนดจาก Indicators หรือกำหนดจากความผันผวนของราคา เป็นต้น

1. Trailing Stop แบบกำหนดตัวเลขตายตัว
          กรณีที่เรามีสถานะซื้อในช่วงที่แนวโน้มของราคามีทิศทางเป็นขาขึ้น เราจะกำหนดว่าราคาสามารถปรับตัวลดลงต่ำกว่าราคาที่เคยสูงที่สุดในช่วงที่เรามีสถานะไปเท่าไรจึงจะตัดสินใจขายทำกำไร เช่น หลังจากที่ลงมือซื้อแล้ว ราคามีจุดสูงสุดอยู่ที่ 40 บาท แล้วเรากำหนดว่าระดับราคาที่ปกป้องกำไรที่ 2 บาท ดังนั้นถ้าราคาไม่ต่ำกว่า 38 บาทเราก็จะยังไม่ขายทำกำไร หากในอนาคตราคามีการปรับตัวขึ้นเกิดจุดสูงสุดใหม่ เช่น 42 บาท เราก็จะขยับราคาในการทำกำไรขึ้นเป็น 40 บาท (ห่างจากจุดสูงสุด 2 บาท) ถ้าราคาไม่ต่ำกว่านี้ก็จะยังไม่ขายทำกำไร

2. Trailing Stop แบบกำหนดเป็น % ของราคา
          จะคล้ายกับแบบกำหนดเป็นตัวเลขตายตัว แต่จะคำนวณเป็น % ของราคาสูงสุดแทน เช่น จากตัวอย่างก่อนหน้านี้ ถ้าเรากำหนด % ของราคาไว้ที่ 5% ราคาสูงสุดอยู่ที่ 40 บาท ระดับราคาที่ปกป้องกำไรจะอยู่ที่ 2 บาท (5% ของ 40) ดังนั้นถ้าราคาไม่ต่ำกว่า 38 บาทเราก็จะยังไม่ขายทำกำไร แต่ถ้าราคามีการปรับตัวขึ้นสร้างจุดสูงสุดใหม่เป็น 42 บาท ระดับราคาในการปกป้องผลกำไรจะเปลี่ยนเป็น 2.10 (5% ของ 42) ดังนั้นถ้าราคาไม่ต่ำกว่า 39.90 เราก็จะยังไม่ขายทำกำไร เป็นต้น

3. Trailing Stop แบบกำหนดจากกราฟราคาที่เป็นแนวรับแนวต้าน
          เกิดจากแนวความคิดที่ว่า ในช่วงที่แนวโน้มของราคาเป็นทิศทางขาขึ้น ราคาไม่ควรปรับตัวลดลงต่ำกว่าแนวรับ ถ้าราคาลดลงต่ำกว่าแนวรับก็จะเป็นสัญญาณไม่ดีต่อสถานะซื้อที่ถืออยู่ดังนั้นจึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะปกป้องกำไรไว้ ตัวอย่างของระดับราคาที่ปกป้องกำไรที่กำหนดจากแนวรับแนวต้านที่นิยมใช้ในช่วงที่แนวโน้มของราคาเป็นทิศทางขาขึ้น ได้แก่ จุดต่ำสุดก่อนหน้า (Previous Low) และเส้นแนวโน้มขาขึ้น วิธีการใช้งาน คือ ถ้าราคายังไม่ปรับตัวลดลงต่ำกว่าจุดต่ำสุด หรือถ้าราคายังไม่ตัดเส้นแนวโน้มขาขึ้นลงมา เราก็จะยังไม่ล้างสถานะซื้อเพื่อทำกำไร

4. Trailing Stop แบบกำหนดจาก Indicators
          จะใช้วิธีรอให้เกิดสัญญาณที่ตรงข้ามกับสถานะที่ถืออยู่ กรณีที่มีสถานะซื้อเราจะยังถือสถานะต่อไปแม้ว่าราคาจะมีการปรับตัวลดลงก็ตาม จนกว่า Indicators ที่กำหนดไว้แสดงสัญญาณขาย เช่น การที่กราฟราคาตัดเส้น Moving Average ลงมา หรือการที่ Parabolic SARs เปลี่ยนจากจุดที่อยู่ด้านล่างเป็นจุดที่อยู่ด้านบนกราฟราคา เป็นต้น

5. Trailing Stop แบบกำหนดจากความผันผวนของราคา
          มีแนวคิดว่าจะกำหนดระดับราคาเท่าไร จึงจะยอมรับได้ว่าทิศทางแนวโน้มของราคาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันยังไม่น่าจะเปลี่ยนทิศทาง ควรใช้ความผันผวนของราคาเป็นเกณฑ์ เนื่องจากในแต่ละช่วงเวลาตลาดมีความผันผวนไม่เท่ากัน ในช่วงเวลาที่ที่ตลาดมีความผันผวนมาก เราอาจต้องยอมรับให้ราคาสามารถมีการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งค่าความผันผวนของราคาที่นิยมใช้งาน ได้แก่ ATR (Average True Range) และ Standard Deviation โดยในช่วงแนวโน้มทิศทางขาขึ้น ถ้าราคามีการปรับตัวลดลงเกินกว่าความผันผวนที่กำหนด ก็จะขายทำกำไร

          จากที่ได้ยกตัวอย่างไปข้างต้นว่า จะเห็นได้ว่าไม่มีวิธีไหนที่เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการทำกำไร ผู้อ่านสามารถเลือกใช้งานวิธีใดก็ได้ตามที่ความชอบ แต่จะเห็นได้ว่าแต่ละวิธี มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ไม่ต้องการรีบร้อนทำกำไรจนเกินไป โดยยอมให้ราคามีการเปลี่ยนแปลงให้ผลกำไรลดลงได้บ้าง เพื่อโอกาสที่จะได้กำไรที่ควรจะได้ตามทิศทางแนวโน้มของราคาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ยอมให้เปลี่ยนแปลงมากเกินไปจนทำให้ผลกำไรที่ควรจะได้หายไป

 


แท็กที่เกี่ยวข้อง: Trailing Stop TFEX แนวคิดเทรด SET50 Futures
บทความที่เกี่ยวข้อง