TFEX
5 Min Read

พาเดินตลาด TFEX ตอนที่ 2 ปัจจัยที่มีผลกระทบกับราคาทองคำ

by TFEX
พาเดินตลาด TFEX ตอนที่ 2 ปัจจัยที่มีผลกระทบกับราคาทองคำ
พาเดินตลาด TFEX ตอนที่ 2 ปัจจัยที่มีผลกระทบกับราคาทองคำ

          ทองคำ (Gold) ถือเป็นโลหะที่มีค่าในตัวเอง เป็นสินทรัพย์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เนื่องจากหาซื้อได้ง่ายและขายได้คล่อง ธนาคารแห่งชาติทั่วโลกก็นิยมใช้ทองคำเป็นส่วนหนึ่งของทุนสำรองระหว่างประเทศ จึงทำให้ราคาทองคำเป็นตัวบ่งชี้เศรษฐกิจโดยรวมของช่วงนั้นๆ โดยการลงทุนในทองคำช่วยชดเชยผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อ และยังมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ดังนั้น บุคคลทั่วไปเมื่อมีเงินเหลือมากพอ จึงมีการซื้อทองคำเพื่อสะสมลงทุน บางครั้งเป็นการซื้อเพื่อกระจายความเสี่ยง และบางครั้งเป็นการเก็งกำไรตามสถานการณ์ ซึ่งราคามักจะเคลื่อนไหวไปตามอุปสงค์และอุปทาน ณ ขณะนั้น

Signal or Indicator สัญญาณหรือตัวชี้วัดที่อาจบอกได้ว่า ราคาทองคำกำลังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลง

1. FED / US Monetary Policy (นโยบายการเงินสหรัฐ)
         FED จะมีการประชุมทุกเดือน โดยจะเป็นผู้กำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งมีผลอย่างมากต่อราคาทองคำ เพราะเป็นต้นทุนทางการเงิน ตัวอย่างเช่น เมื่อ FED ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ธนาคารจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม
          นักลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยงจะเห็นว่าอัตราผลตอบแทนเงินฝากเพิ่มขึ้น ก็จะย้ายเงินที่ไม่ได้ปันผลอย่างทองคำมาฝากแทน ในขณะที่การกู้ยืมไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็นหุ้น อสังหาริมทรัพย์ หรือทองคำ ก็จะมีการลดสัดส่วนลง ทำให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง กลับกันช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ธนาคารกลางที่แข่งกันลดอัตราดอกเบี้ย จะเป็นช่วงที่ราคาทองพุ่งขึ้นได้ดี

2. US Economic Data (เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจ)
         GDP ตัวเลขการจ้างงาน อัตราเงินเฟ้อ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการจ้างงานรายสัปดาห์ ในสหรัฐจะมีการรายงานทุกสัปดาห์ โดยตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดี แสดงให้เห็นว่าธุรกิจเติบโตมีรายได้สูง การลงทุนในกิจการมีกำไรเติบโต และมีโอกาสได้รับเงินปันผล ดังนั้นช่วงที่เศรษฐกิจดี ราคาทองคำมักไม่ได้ปรับตัวขึ้น แต่ถ้าตัวเลขทางเศรษฐกิจออกมาไม่ดี ก็มีโอกาสที่ราคาทองจะขยับขึ้นได้ในแต่ละสัปดาห์

3. Supply and Demand (อุปสงค์ และ อุปทาน)
        ในแต่ละปีมีเหมืองทองคำมีความสามารถในการผลิตไม่เท่ากัน เมื่อผลผลิต (Supply) ออกสู่ตลาดได้น้อยลง ในขณะที่ความต้องการทองคำยังเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น (Demand) คนก็จะแย่งกันซื้อ เพราะทองคำมีจำนวนจำกัด ทำให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ถ้า Supply ลด แล้ว Demand ลดลงด้วย ไม่ว่าจะเป็นทั้งจากนโยบายของบางประเทศที่ห้ามนำเข้า, การเพิ่มอัตราภาษี หรือไม่ใช่ช่วงเทศกาลที่นิยมใช้ทองคำ ราคาทองคำก็อาจเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ซึ่งในภาวะปกติ ผู้ผลิตเหมืองทองส่วนใหญ่จะพยายามรักษาระดับผลผลิตให้ใกล้เคียงกับความต้องการ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ราคาทองคำต่ำเกินไป จากนั้นจึงไปเร่งผลิตในช่วงที่ใกล้เทศกาลที่มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นผู้ที่เข้าใจกลไกนี้ จึงมักหาจังหวะเก็บทองในช่วงที่ราคายังไม่ไปไหน

4. Inflation (เงินเฟ้อ)
         เงินเฟ้อ หรือสถานการณ์ที่ราคาสินค้าและบริการกำลังมีโนวโน้มสูงขึ้น โดยเงินเฟ้อในระดับที่เหมาะสมจะช่วยให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีความต่อเนื่อง แต่เมื่อมีภาวะเงินเฟ้อที่มากเกินไป ซึ่งบางครั้งเกิดจากปัญหาทรัพยากรบางชนิดขาดแคลน บ้างก็เกิดจากการมีเงินในระบบที่มากเกินไป ย่อมไม่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ ดังน้ัน เมื่อเห็นว่าภาวะเงินเฟ้อกำลังเพิ่มขึ้นจนมีโอกาสสร้างปัญหาในอนาตต ผู้มีเงินออมจะเริ่มสะสมทองคำ เพื่อลดความเสี่ยงจากการด้อยค่าของเงิน

5. Dollar Index (ตระกร้าเงินดอลลาร์สหรัฐ)
         โดยตระกร้าเงินนี้ประกอบไปด้วย Euro (EUR), Japanese Yen (JPY), British Pound (GBP), Canadian Dollar (CAD), Swedish Krona (SEK) และ Swiss Franc (CHF) ซึ่งใช้เป็นตัวชี้วัดว่าภาพรวมค่าเงินดอลลาร์กำลังมีแนวโน้มแข็งขึ้นหรืออ่อนค่าลง โดยส่วนใหญ่การซื้อขายทองคำจะใช้เงินสกุลดอลาร์เป็นหลัก ดังนั้นเมื่อเงินสกุลดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เท่ากับว่าซื้อทองคำได้มากขึ้น หรือทองคำโดยเปรียบเทียบจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลง

6. Gold ETF (กองทุนรวมทองคำ)
          นักลงทุนทั่วโลกที่สนใจลงทุนในทองคำ นอกจากจะซื้อเป็นทองคำแท่ง หรือทองรูปพรรณจากร้านทอง ยังสามารถลงทุนผ่านไปที่กองทุนรวม เพื่อให้กองทุนรวมไปซื้อทองคำจริงมาเก็บไว้ ซึ่งได้รับความนิยมมากทั่วโลก โดยเมื่อความต้องการซื้อทองคำเพิ่มสูงขึ้น กองทุนรวมก็จะไปซื้อทองจริงๆ มาเก็บไว้ แสดงให้เห็นถึง Demand ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยกองทุนรวมที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ SPDR Gold Trust Fund ถือทองคำรวมกว่า 1000 ตันซึ่งถ้าหากกองทุนรวมทองคำมีการเทขายแรงๆ อาจทำให้ราคาทองคำร่วงได้เช่นกัน

7. Uncertainty (ความไม่แน่นอน)
       เช่น การเกิดภาวะสงคราม การก่อการร้าย ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โรคระบาด หุ้นตกอย่างรุนแรง ฯลฯ เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ บางเรื่องมีสัญญาณล่วงหน้า บางเรื่องเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด ซึ่งล้วนแต่สร้างความกังวล และความไม่มั่นใจ ให้กับผู้คนว่าจะจบเมื่อไหร่ หรือจะมีการบานปลายไปกระทบกับใครอีกบ้าง ทำให้คนส่วนใหญ่หันมาซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ราคาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมักเป็นการซื้อเพิ่มจากภาวะปกติ ดังนั้นเมื่อความไม่แน่นอนจบลง หรือมีกำหนดระยะเวลาคลื่คลายชัดเจน เรามักเห็นราคาทองคำปรับตัวลดลงได้

8. อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท (THB/USD)
          สำหรับการซื้อขายทองคำในรูปสกุลเงินบาท ต้องมีการนำเข้าทองคำจากต่างประเทศแล้วมาแปลงให้เหมาะกับความต้องการของคนไทย โดยการนำเข้า ร้านค้าต้องแลกเงินบาทเป็นดอลลาร์สหรัฐ แล้วนำไปชำระเพื่อแลกเป็นทองคำกลับมา ซึ่งหากเดิมอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30 บาทแลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเป็น 32 บาทต่อดอลลาร์ หมายความว่าราคาทองคำที่น้ำหนักและความบริสุทธิ์เท่าเดิม เมื่อคำนวณกลับมาเป็นไทยบาท จะมีมูลค่าสูงขึ้น ดังนั้นในช่วงที่เงินบาทแข็ง เรามักเห็นคนไปลงทุนในทองคำ หรือซื้อเงินตราต่างประเทศไว้ล่วงหน้า เมื่อค่าเงินบาทอ่อนลง แม้ราคาทองโลกไม่เคลื่อนไหว แต่ผู้ลงทุนก็จะมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น

          ในช่วงที่เกิดภาวะโควิดนี้ จะเห็นได้ว่ากระทบทั้ง ในเรื่องของเศรษฐกิจ เพราะประชาชนไม่สามารถทำงานทำธุรกิจได้ แต่กลับเจ็บป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศต้องออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ บางประเทศมีการกู้และพิมพ์แบงค์เพิ่ม ธนาคารกลางหลายแห่งจึงจำเป็นต้องซื้อทองคำมาเป็นทุนสำรองเพิ่ม ซึ่งจำนวนเงินที่เพิ่มมาในระบบก็จะทำให้มีแนวโน้มเงินเฟ้อตามมาในอนาคต

     นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยังผันผวนและมีการปรับตัวลดลงมาก นักลงทุนมีการปรับสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงลดลง และถือเงินสดกับทองคำเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นมากจากอดีต จนบางครั้งราคาทองคำพุ่งสูงเกินความคาดหวังของนักลงทุน ก็จะมีแรงเทขายออกมา ทำให้ทองคำผันผวนอยู่ตลอดเวลา แต่ตราบใดที่ความไม่แน่นอนยังอยู่ ราคาทองคำมักไม่ปรับตัวลดลงง่ายๆ กลับกันเมื่อสถานการณ์ควบคุมได้ คนก็จะนำทองคำมาขายเพื่อไปซื้อที่ดิน ทำธุรกิจ หรือกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น ราคาทองคำก็อาจกลับมาปรับตัวลดลงได้อีกครั้ง

         สุดท้ายทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ต้องรู้จักศึกษาปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ ควรวางแผนการลงทุนและมีวินัย เมื่อมีกำไรต้องรู้จักทำกำไร ในขณะที่เมื่อรู้ว่าผิดทาง ต้องรู้จักตัดขาดทุน ไม่ปล่อยให้การขาดทุนจนเป็นปัญหาหรือกินเงินทุนจนหมด ควรปรึกษาผู้แนะนำการลงทุน หรือโบรเกอร์ของท่าน ก่อนการตัดสินใจลงทุน
 
ดูรายละเอียดสินค้าทองคำเพิ่มเติมได้ที่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: แนวคิดเทรด Gold Futures
บทความที่เกี่ยวข้อง