TFEX
5 Min Read

แนวคิดสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการใช้ตลาด TFEX เพื่อบริหารความเสี่ยง

by TFEX
สำหรับผู้ประกอบการด้านนำเข้าส่งออก หรือธุรกิจที่ต้องถือครองสินค้าจำนวนมาก จะพบกับความเสี่ยงเรื่องการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินหรือราคาสินค้า ทำให้มูลค่าของสินค้าหรือจำนวนเงินที่ได้อาจจะลดลงจนกระทบผลกำไรขาดทุนในอนาคต ซึ่งตลาดอนุพันธ์ หรือ TFEX ได้ออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผู้ลงทุนหรือผู้ประกอบการใช้บริหารความเสี่ยง ตามกลุ่มสินค้าอ้างอิงยอดนิยมที่หลากหลาย เช่น ค่าเงิน อัตราดอกเบี้ย สินค้าโภคภัณฑ์อย่างทองคำ โลหะเงิน

 

ผู้ประกอบการจึงสามารถใช้อนุพันธ์อย่างฟิวเจอร์สในการบริหารความเสี่ยงจากการเคลื่อนไหวขึ้นลงของราคาสินทรัพย์ได้ เช่น ผู้นำเข้าส่งออกที่มีความเสี่ยงในอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ประกอบการค้าทองคำ โรงรับจำนำ หรือผู้ค้ายาง ด้วยการเปิดสถานะ Futures ในฝั่งตรงข้ามกับสถานะที่ถือไว้ เมื่อเราป้องกันความเสี่ยงขาลงโดยการเปิดสถานะขาย (Short Open) แล้วตลาดลงจนเกิดผลขาดทุนจากราคาสินค้าที่ถือไว้ลดต่ำลง ก็จะมีผลกำไรจาก Futures มาชดเชยแทน กลับกันหากเรากำไรจากราคาสินค้าที่ถือไว้ ก็จะมีผลขาดทุนจาก Futures ที่เราเปิดสถานะขายไว้แทน ทั้งหมดเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินทรัพย์ที่ผู้ประกอบการถือครองอยู่

 

ตัวอย่างการใช้ USD Futures ในการบริหารความเสี่ยงค่าเงินดอลลาร์

ผู้ประกอบการสามารถใช้ USD Futures ป้องกันความเสี่ยงได้ดังนี้

1) สำหรับผู้นำเข้าสินค้าที่มีความจำเป็นต้องชำระราคาสินค้าในอนาคตเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น จะทำให้ผู้ประกอบการต้องใช้จำนวนเงินบาทมากขึ้นในการชำระ

 

ผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องใช้เงิน 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อชำระราคาสินค้าในอีก 3 เดือนข้างหน้า
(ค่าเงินบาทปัจจุบันอยู่ที่ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ, USD Futures อยู่ที่ 34.70 บาท ซึ่งตัวคูณสัญญา USD Futures เท่ากับ 1,000 บาท)

 

ณ วันเริ่มต้น

  • มีภาระหนี้ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 525,000 บาท
  • เปิด Long USD Futures ในจำนวนมูลค่าสัญญาเทียบเท่ากัน จำนวน 15 สัญญา ที่ราคาปัจจุบัน 34.70 บาทหรือคิดเป็นมูลค่า 520,500 บาท (70 x 1,000 x 15)

 

เมื่อเวลาผ่านไป 3 เดือน หากค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเท่ากับ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ และราคา USD Futures ขยับขึ้นมาเท่ากับ 35.70 บาท

  • จำนวนเงินที่ต้องชำระค่าสินค้า 36 x 15,000 = 540,000 บาท (จ่ายเพิ่มขึ้น 15,000 บาท)
  • กำไรจาก USD Futures เท่ากับ (35.70 - 34.70) x 1,000 x 15 = 15,000 บาท

 

2) กลับกันหากเป็นผู้ส่งออกสินค้าที่รับเงินเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ก็จะมีความเสี่ยงหากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการจะได้รับจำนวนเงินบาทน้อยลงตาม

หากผู้ประกอบการกำลังจะได้รับเงิน15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากการขายสินค้าในอีก 3 เดือนข้างหน้า

(ให้ค่าเงินปัจจุบันอยู่ที่ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ USD Futures อยู่ที่ 34.70 บาทซึ่งตัวคูณสัญญา USD Futures เท่ากับ 1,000 บาท)

 

ณ วันเริ่มต้น

  • กำลังจะได้รับเงิน 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 525,000 บาท
  • เปิด Short USD Futures ในจำนวนที่มูลค่าสัญญาเทียบเท่ากัน จำนวน 15 สัญญา ที่ราคาปัจจุบัน 34.70 บาท หรือคิดเป็นมูลค่า 520,500 บาท (70 x 1,000 x 15)

 

เมื่อเวลาผ่านไป 3 เดือน หากค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเท่ากับ 34บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ และราคา USD Futures ลงมาเท่ากับ 33.70 บาท

  • จำนวนเงินที่ได้จากการขายสินค้า 34 x 15,000 = 510,000 บาท (ได้เงินน้อยลง 15,000 บาท)
  • กำไรจาก USD Futures เท่ากับ (34.70 - 33.70) x 1,000 x 15 = 15,000 บาท

 

จะเห็นได้ว่าความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมีความสำคัญจะเป็นตัวบ่งชี้ผลกำไรขาดทุน หรือเป็นต้นทุนส่วนเพิ่มของกิจการหากผู้ประกอบใช้ตลาด TFEX ช่วยบริหารความเสี่ยงจะได้ส่วนต่างจากกำไรในตลาด TFEX มาชดเชยหากอัตราแลกเปลี่ยนเกิดความผันผวน และผู้ประกอบการยังสามารถปิดสถานะสัญญา USD Futures ได้ตลอดเวลาเมื่อเห็นว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อาจจะกลับทางในอนาคต

 

ติดต่อบริษัทสมาชิกที่ดูแลบริการซื้อขาย USD Futures (สำหรับผู้ประกอบการ) linkout
รายละเอียดบริการแลกดอลลาร์รายวัน linkout

 

ตัวอย่างการใช้ Gold Futures ในการป้องกันความเสี่ยงจากราคาทองคำ

สำหรับผู้ประกอบการค้าทองคำหรือโรงรับจำนำที่ต้องมีการเก็บทองคำไว้เป็นจำนวนมาก อาจจะมีความเสี่ยงกรณีที่ราคาทองคำในประเทศปรับตัวลง ผู้ประกอบการสามารถใช้ Gold Futures ที่อ้างอิงราคาทองคำในประเทศความบริสุทธิ์ 96.5% ในการป้องกันความเสี่ยงจากสต็อกทองคำที่เก็บไว้ในร้านได้ดังนี้

 

ผู้ค้าทองคำหรือโรงรับจำนำมีทองคำเก็บไว้ 500 บาททองคำ และมีความจำเป็นต้องเก็บทองคำไว้เพื่อขายหรือให้ผู้ที่จำนำไว้มาไถ่ถอน 

(ให้ราคาทองคำปัจจุบันอยู่ที่ 29,000 บาทต่อบาททองคำราคา Gold Futures เท่ากับ 29,100 บาทต่อบาททองคำ ซึ่งตัวคูณสัญญา Gold Futures เท่ากับ 50 บาท และ 10 บาท ตามขนาดสัญญา)

 

ณ วันเริ่มต้น

  • ผู้ประกอบการมีทองคำที่เก็บไว้ 500 บาททองคำ รวมมูลค่า 14,500,000 บาท
  • เปิด Short Gold Futures ขนาด 50 บาททองคำ ในจำนวนที่มูลค่าสัญญาเทียบเท่ากันจำนวน 10 สัญญาที่ราคา 29,100 บาทต่อบาททองคำ หรือคิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 14,550,000 บาท (29,100 x 50 x 10)

 

เมื่อเวลาผ่านไป 2 เดือน หากราคาทองคำในประเทศปรับตัวลดลงเหลือ 28,000 บาท และราคา Gold Futures มาอยู่ที่ 28,100 บาท

  • ขาดทุนจากมูลค่าทองคำที่ถือไว้เท่ากับ (29,000 - 28,000) x 500 = 500,000 บาท
  • กำไรจาก Gold Futures เท่ากับ (29,100 - 28,100) x 50 x 10 = 500,000 บาท


ดังนั้นแม้ผู้ประกอบการจะมีผลขาดทุนจากมูลค่าทองคำที่ถือครองแต่จะได้ส่วนต่างกำไรจากฟิวเจอร์สในอัตราที่ใกล้เคียงกันมาชดเชย โดยผู้ประกอบการสามารถปิดสถานะสัญญา Gold Futures ได้ในกรณีที่คาดว่าราคาทองคำอาจจะไม่ปรับตัวลงแล้ว

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง